Please use this identifier to cite or link to this item: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15274
Title: ภาวะการใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรของเกษตรกรผู้ทำนาในตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
Authors: เรืองฤทธิ์, ปั้นทอง
Keywords: ความไม่มั่นคงทางอาหาร
Issue Date: 2532
Publisher: กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาการใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรในการทำนา ของเกษตรกรผู้ทำนาในตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยศึกษาถึงเหตุผลที่เกษตรกรตัดสินใจใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตร ลักษณะการใช้ผลที่ได้รับจากการใช้ และปัญหาในการใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรนั้นๆ ในการทำนา โดยผู้วิจัยได้สัมภาษณ์เกษตรกรผู้ทำนาที่ได้จากการสุ่มตัวอย่าง โดยวิธีการจับสลาก จำนวน 96 ราย เป็นผู้ที่มีและไม่มีเครื่องจักรกลฯ เป็นของตนเอง ประเภทละ 48 ราย เท่ากัน วิธีการทางสถิติที่ใช้ในการวิจัย ใช้ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานโดยใช้ไคสแควร์ ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรผู้ทำนาได้ใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรในการทำนาโดยใช้ในการเตรียมดิน เพื่อทำแปลงเพาะกล้าและแปลงปักดำหรือหว่านเป็นหลัก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญที่ต้องการให้ตนสามารถเพาะปลูกข้าวได้ทันตามฤดูกาล เกษตรกรไม่มีเครื่องจักรกลฯ เป็นของตนเอง จะเสียค่าจ้างในการใช้เครื่องจักรกลฯ เตรียมดินในอัตราไร่ละ 130 บาท โดยเฉลี่ย หรือคิดเป็นรายละ 1,497.60 บาทต่อปี ส่วนผู้มีเครื่องจักรฯ เป็นของตนเองได้รับจ้างเฉลี่ยรายละ 19.74 ไร่ หรือคิดเป็นเงินได้สุทธิรายละ 1,253.10 บาทต่อปี เมื่อเกษตรกรได้ซื้อรถไถเดินตามมาใช้ในการเตรียมดินนั้น ได้ใช้เตรียมดินปีละ 38.37 ไร่ ซึ่งต่ำกว่าจุดคุ้มทุนที่เครื่องจักรกลฯ จะต้องทำให้ได้ใน 1 ปี คือ 53.65 ไร่ หรือตลอดอายุการใช้งานของรถไถเดินตาม 8 ปี จำนวน 429.27 ไร่ การใช้เครื่องจักรกลฯ ในการทำนา ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลผลิตข้าวต่อไร่สูงขึ้นกว่าที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรกลฯ แต่อย่างใด เพราะเกษตรกรไม่ได้เปลี่ยนแปลงกรรมวิธีและการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตนั่นเอง การใช้เครื่องจักรกลฯ เพียงแต่ช่วยให้เกษตรกรได้รับความสะดวกรวดเร็วกว่าแรงงานสัตว์ และสามารถเพาะปลูกข้าวได้ทันฤดูกาลเท่านั้น ปัญหาของการใช้เครื่องจักรฯ ในการทำนา ได้แก่ เกษตรกรผู้รับจ้างไม่มาทำตามกำหนดนัดหมายที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้จ้างไม่มีเงินค่าจ้าง และผู้รับจ้างมักเตรียมดินไม่เรียบร้อย ทำให้ผู้จ้างต้องเสียเวลาควบคุมดูแลการทำงานของผู้รับจ้างและต้องตกแต่งที่ดินเพิ่มเติมอยู่บ่อย ๆ สำหรับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรกล ฯ มักประสบปัญหาการขาดความรู้ในการใช้และบำรุงรักษา ซึ่งเป็นเหตุทำให้เครื่องจักรกล ฯ เสียหายได้เร็วกว่ากำหนดที่ควรจะเป็น ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานขึ้นพิสูจน์ ซึ่งปรากฏผลว่า เกษตรกรผู้ทำนาไม่มีความแตกต่างกันในการเป็นเจ้าของเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตร แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านอายุ ระดับการศึกษา จำนวนสมาชิกในครัวเรือน จำนวนแรงงานในครัวเรือนและรายได้ต่อปีแต่เกษตรกรผู้ทำนาที่มีพื้นที่ถือครองเพื่อการทำนาแตกต่างกัน จะเป็นเจ้าของเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรแตกต่างกัน โดยผู้ที่มีพื้นที่ถือครองเพื่อการทำนาจำนวน 10 ไร่ขึ้นไปจะมีแนวโน้มเป็นเจ้าของเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรมากกว่าไม่เป็นผู้วิจัยได้เสนอแนะให้มีการศึกษาลู่ทางใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว โดยผู้ใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรช่วยในการทำนาให้มากขึ้น รวมทั้งแนะนำการใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรอย่างถูกต้องให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกล ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นควรเพิ่มบทบาทในการให้ การฝึกอบรมวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้นแก่เกษตรกรให้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้วิจัยได้เสนอให้รัฐเร่งปรับปรุงระบบการชลประทาน พร้อมกับจัดรูปที่ดินให้เหมาะสม รวมทั้งให้สินเชื่อการเกษตรแก่เกษตรกรให้มากขึ้นด้วย
URI: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15274
Appears in Collections:993 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา



Items in PSU Knowledge Bank are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.