Please use this identifier to cite or link to this item: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15194
Title: สภาพการผลิตและการตลาดถั่วหรั่งของเกษตรกรในภาคใต้
Authors: ศิริกุล, ศรีแสงจันทร์
พงษ์ศักดิ์, วิเศษสินธ์
สมชัย, วิสารทพงศ์
Keywords: ความไม่มั่นคงทางอาหาร
Issue Date: 2541
Publisher: กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
Abstract: การศึกษาสภาพการผลิตและการตลาดถั่วหรั่งของเกษตรกรในภาคใต้ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการผลิต ต้นทุนการผลิต การตลาด ปัญหาอุปสรรค และแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกถั่วหรั่งในอนาคต โดยการสอบถามจากเกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 129 ราย จากจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งคัดเลือกโดยวิธีเจาะจง (Purposive Random Samplinng) ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Random Sampling ) ในระดับเกษตรกร ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรที่ปลูกถั่วหรั่งในภาคใต้มีอายุเฉลี่ย 49 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า มีสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.8 คน เป็นแรงงานที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 2.3 คน มีอาชีพหลักทำสวนยางพาราร้อยละ 51.2 และรับจ้างร้อยละ 22.5 ส่วนอาชีพรองปลูกพืชไร่ และพืชผัก ร้อยละ 38.7 และ15.3 ตามลำดับ มีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 19.5 ไร่ต่อครัวเรือน ส่วนพื้นที่ปลูกถั่วหรั่งเฉลี่ย 2.8 ไร่ต่อครัวเรือน เกษตรกรนิยมปลูกถั่วหรั่งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม โดยปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราและสวนมะพร้าว เกษตรกรส่วนใหญ่ไถเตรียมดิน 2- 3ครั้ง แล้วปลูกถั่วหรั่ง 2-3 เมล็ด (3-6 กิโลกรัมต่อไร่) ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง หรือซื้อจากเพื่อนบ้านในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.45 บาท โดยใช้ระยะปลูกระหว่าง 30x30 ถึง 100x100 เซนติเมตร หลังจากนั้นก่อนที่ถั่วหรั่งจะออกดอก เกษตรกรทำการกำจัดวัชพืช 1-2 ครั้ง แล้วพูนล้อมกอแต่ละกอ จากนั้นก็ทิ้งไว้จนกว่าจะเก็บเกี่ยว มีบางส่วนที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยในช่วงเดียวกันกับการกำจัดวัชพืชครั้งแรก มีทั้งปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 13-13-21 21-0-0 16-20-0 และปุ๋ยยูเรียใส่รองก้นหลุมครั้งแรก โรยรอบโคนต้น หรือหว่าน โรคแมลงศัตรูสำคัญที่เป็นปัญหาของเกษตรกรได้แก่ โรคใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อราทิ่อาศัยอยู่ในดิน มักพบการระบาดของโรคมากถ้าเกษตรกรปลูกซ้ำในที่เดิม 2- 3ปี ส่วนแมลงที่พลส่วนใหญ่เป็นเพลี้ยอ่อนที่ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนยอดอ่อนของต้นถั่วหรั่ง ถั่วหรั่งที่เกษตรกรปลูกได้ผลผลิตเฉลี่ย 368.4 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรจำหน่ายให้พ่อค้าที่มาซื้อในหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาจำหน่ายให้พ่อค้าในอำเภอ และนำไปจำหน่ายเอง ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จำหน่ายได้ในราคา 100-150 บาท ต่อถัง (เฉลี่ย 133.06 บาทต่อถัง) หรือ 10-15 บาทต่อกิโลกรัม (เฉลี่ยกิโลกรัมละ 11.633 บาท) ส่วนต้นทุนการผลิต รวมทั้งสิ้น 3,565.34 บาทต่อไร่ ฉะนั้นเกษตรกรจะได้กำไรสุทธิไร่ละ 3,808.47 บาท ถ้าคิดเฉพาะต้นทุนที่เป็นเงินสด ปัญหาอุปสรรคในการปลูกถั่วหรั่งของเกษตรกรมาจากภัยธรรมชาติ ศัตรูพืช วัชพืช และเรื่องเมล็ดพันธุ์ ฉะนั้นแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกถั่วหรั่งในภาคใต้ จึงควรเน้นศึกษาวิจัยเรื่องพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคใบไหม้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูป เป็นต้น ส่วนแนวทางการส่งเสริมการปลูกถั่วหรั่งในภาคใต้ ควรส่งเสริมการปลูกถั่วหรั่งในพื้นที่นาหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว และพื้นที่อื่นๆที่เหมาะสมกับการปลูกถั่วหรั่ง นอกจากนั้นควรเร่งรัดการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ดี(พันธุ์สงขลา1) ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างทั่วถึง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ถึงมือเกษตรกรมากที่สุด และประการสุดท้ายควรจะส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อให้ช่วยเหลือกันในการผลิตและจำหน่าย และเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารการตลาดและสนับสนุนกิจกรรมภายในกลุ่มในระบบเงินทุนหมุนเวียน
URI: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15194
Appears in Collections:993 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา



Items in PSU Knowledge Bank are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.