Please use this identifier to cite or link to this item: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15226
Title: ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนจังหวัดพัทลุง
Authors: อาทร, มีแก้ว
Keywords: การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม;ความไม่มั่นคงทางอาหาร
Issue Date: 2548
Publisher: กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
Abstract: การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ โดยมุ่งหวังเพื่อค้นหาปัจจัยสำคัญ ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน และไม่มีผลเพื่อจะได้นำผลจากการวิจัยไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน และการดำเนินงานของกลุ่มผู้ผลิตข้าว โครงการผลิตข้าวคุณภาพดีปลอดภัยจากสารพิษครบวงจร ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดพัทลุง ในโอกาสต่อไป และศึกษาสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของสมาชิกศูนย์ โดยผู้ศึกษาวิจัยได้ตั้งสมมติฐานการวิจัย เกี่ยวกับปัจจัยที่สำคัญ ๆ ซึ่งคาดว่ามีผลต่อการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนไว้ 9 ปัจจัย คือ 1) ความรู้ความเข้าใจของสมาชิกในหลักการและวิธีการดำเนินงานศูนนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน 2) การมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินงานของศูนย์ 3) การกำหนดหน้าที่ และความรับผิดชอบของศูนย์ 4) กิจกรรมของศูนย์และผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับ 5) กฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ของศูนย์ 6) การพัฒนาคุณภาพสมาชิกของศูนย์ 7) ผู้นำและภาวะผู้นำของศูนย์ 8) ความสัมพันธ์ภายในศูนย์และภายนอก และ 9) การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน จากการศึกษาสมาชิกศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน จำนวน 16 ศูนย์ สมาชิกกลุ่มตัวอย่าง 160 ราย และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง (เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตำบลที่ศูนย์ตั้งอยู่) จำนวน 22 ราย ใน 10 อำเภอ (ยกเว้นกิ่งอำเภอศรีนครินทร์) ของจังหวัดพัทลุง โดยใช้แบบสัมภาษณ์ 2 ชุด และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS เพื่อวิเคราะห์หาค่าสถิติต่าง ๆ ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) และค่าไค-สแคว (Chi-square) แล้วนำเสนอผลการศึกษาแบบอธิบายความโดยวิธีพรรณนา ประกอบตารางแสดงข้อมูลทางสถิติ พบว่า สถานภาพของสมาชิกศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน สมาชิกศูนย์กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 37.5 จากศูนย์ระดับดี อาชีพหลักในครัวเรือน สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 95.02 อาชีพทำการเกษตร อาชีพรองในครัวเรือนสมาชิก สมาชิกร้อยละ 44.4 อาชีพด้านอื่น ๆ ได้แก่ การแปรรูปผลผลิตการเกษตร หัตถกรรม และศิลปประดิษฐ์ เป็นต้น ด้านการศึกษาสมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 61.3 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (ป.4) และจำนวนสมาชิกในครัวเรือน สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 54.4 มีสมาชิกในครัวเรือน 3-4 คน การตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกศูนย์สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 65.0 ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกด้วยตนเอง เหตุผลในการสมัครเป็นสมาชิกศูนย์ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.5 ต้องการได้รับเมล็ดพันธุ์ดีรองลงมาร้อยละ 76.3 และร้อยละ 55.6 ต้องการผลผลิตข้าวเพิ่ม และต้องการรับความรู้ ตามลำดับ และการได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกศูนย์สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 50.6 เห็นว่าได้รับประโยชน์ระดับปานกลาง ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและวิธีการดำเนินงานศูนย์ สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 76.3 มีความรู้ความเข้าใจในระดับมาก ด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินงานของศูนย์ สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 71.3 มีส่วนร่วมในระดับมาก ด้านความคิดเห็นของสมาชิกที่มีต่อการดำเนินงานของศูนย์ ในประเด็นต่าง ๆ เห็นด้วยมาก กิจกรรมและผลประโยชน์ที่ได้รับจากศูนย์ สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 75.0 เห็นด้วยมาก การกำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ของศูนย์ ร้อยละ 50.6 เห็นด้วยน้อย การพัฒนาคุณภาพสมาชิกของศูนย์ สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 60.0 เห็นด้วยมาก ผู้นำและภาวะผู้นำของศูนย์ สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 56.2 เห็นด้วยมาก และการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนแก่ศูนย์ สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 52.5 เห็นด้วยน้อย ในส่วนการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของศูนย์ ผลจากการหาความสัมพันธ์ทางสถิติ เพื่อทดสอบสมมติฐาน พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานศูนย์ มีดังนี้ ด้านสมาชิกศูนย์ พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานศูนย์มี 7 ปัจจัย ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน คือ 1) การมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินงานของศูนย์ 2) กิจกรรมของศูนย์และผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับ 3) กฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ของศูนย์ 4) การพัฒนาคุณภาพสมาชิกของศูนย์ 5) ผู้นำและภาวะผู้นำของศูนย์ 6) ความสัมพันธ์ภายในศูนย์และภายนอก และ 7) การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน การบริหารจัดการด้านอื่น ๆ พบว่า จุดเด่นของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ได้แก่ การดำเนินกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ซึ่งบางกิจกรรม อาทิเช่น กองทุนการผลิต การกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สมาชิก เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมที่มีคุณภาพต่อตนเอง ศูนย์ และสังคม โดยเฉพาะพฤติกรรมด้านความซื่อสัตย์สุจริต การตรงต่อเวลา การเรียนรู้ด้วยตนเอง ความเสียสละ เป็นต้น อีกทั้งสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก สำหรับจุดด้อย ได้แก่ การวางแผนประจำปีของศูนย์ ไม่ค่อยได้จัดเวทีชาวบ้าน เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ส่งผลให้สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ทราบทิศทางและผลการดำเนินงานของศูนย์อย่างชัดเจน ขาดการเชื่อมโยงกิจกรรมกับกลุ่มอื่น ๆ อาทิเช่น บางกลุ่มมีโรงสีข้าว ฉางข้าว ลานตาก และเครื่องอบลดความชื้น และเครื่องบรรจุถุงสูญญากาศ แต่ไม่ได้ประสานเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์สูงสุด เงินกู้ไม่เพียงพอ และไม่ค่อยมีระบบเครือข่ายของศูนย์หรือกลุ่ม ความต้องการในการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน พบว่า สมาชิกศูนย์ต้องการให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ มีการวางแผนประจำปีของศูนย์แบบมีส่วนร่วม มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคณะกรรมการของศูนย์ เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ พ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือกตามคุณภาพและให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์อย่างจริงจัง ส่วนความต้องการของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง (เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตำบลที่ศูนย์ตั้งอยู่) พบว่า เจ้าหน้าที่มีความต้องการพัฒนาระบบทำงานของศูนย์ โดยการนำหลักการมีส่วนร่วมของสมาชิกมาใช้ให้มากขึ้น เชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์ในทุกระดับพร้อมสนับสนุนงบประมาณในการจัดเวทีของเครือข่าย และเน้นการทำงานแบบบูรณาการ พัฒนาและขยายโอกาสกิจกรรม โดยใช้กระบวนการผลิตตามแนวทาง GAP บริหารจัดการข้าว ทั้งระบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงกับองค์กรประชาชนอื่น ๆ ที่มีความพร้อมด้านการผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ และการตลาดอยู่แล้ว รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการบริหารจัดการข้าวให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาคณะกรรมการและสมาชิกของศูนย์ เพื่อเสริมสร้างภาวะผู้นำให้มีความรู้คู่กับความดี กระจายพันธุ์ดีให้ได้ตามเป้าหมาย อย่างเป็นระบบและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ด้านเงินทุน เพื่อพัฒนาและขยายโอกาสการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ การสรุปผลงานการรายงานและประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินงานของศูนย์อย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ให้มีประสิทธิภาพ ควรจะใช้ผลจากการวิจัยไปประยุกต์ใช้ อาทิเช่น สมาชิกของศูนย์ต้องเข้าใจแนวคิด หลักการ และวิธีการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ต้องรู้ความต้องการและปัญหาของสมาชิกศูนย์ แล้วสนองตอบให้ถูกต้อง ใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของศูนย์ พิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของศูนย์มาปรับใช้พัฒนาศูนย์อย่างจริงจัง คณะกรรมการของศูนย์ต้องมีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ควบคู่ความดี เจ้าหน้าที่ภาครัฐ จะต้องทำหน้าที่ผู้ประสานสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์อย่างใกล้ชิดและทุ่มเท และบทบาทของภาครัฐ ส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบของจังหวัดให้ครบวงจร ในรูปแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน โดยประสานกับภาคเอกชนด้วย
URI: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15226
Appears in Collections:993 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา



Items in PSU Knowledge Bank are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.