Please use this identifier to cite or link to this item: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15212
Title: ความคาดหวังของเกษตรกรต่อบทบาทของวิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงในการส่งเสริมการเกษตร
Authors: วิรัติ, บัวทอง
Keywords: การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม;ความไม่มั่นคงทางอาหาร
Issue Date: 2532
Publisher: กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
Abstract: วิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงนอกจากจะมีหน้าที่จัดการศึกษาในระบบด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังได้จัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน โดยเฉพาะการส่งเสริมการเกษตรอีกด้วย แต่ยังมิได้มีการศึกษาอย่างจริงจังถึงความคาดหวังของเกษตรกรต่อบทบาทต่าง ๆ ในการส่งเสริมการเกษตร และเพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรของวิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงมีประสิทธิภาพ จึงควรมีการศึกษาในเรื่องนี้ วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาถึงปริมาณของเกษตรกรที่มีความคาดหวังต่อบทบาทของวิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงในการส่งเสริมการเกษตร ความคาดหวังต่อบทบาทของวิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงของเกษตรกรที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมต่างกัน และข้อคิดเห็นของเกษตรกรที่มีต่อวิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงในการส่งเสริมการเกษตร กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาคือ เกษตรกรบริเวณใกล้เคียงวิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงจำนวน 157 คน ทำการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อหาค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต และค่าไคสแควร์ เกษตรกรคาดหวังต่อบทบาทของวิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุงในการส่งเสริมการเกษตร ในเรื่องการเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร และการบริการพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และเอกสารทางการเกษตรมากที่สุด รองลงมาเป็นการให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการให้บริการทางการเกษตร การจัดสาธิตทางการเกษตร การเป็นแบบอย่างทางด้านอาชีพเกษตร และเกษตรกรคาดหวังน้อยต่อบทบาทการเป็นแหล่งความรู้ทางการเกษตร การเป็นที่ปรึกษาทางการเกษตร การชี้แนะในการเลือกประเภทของกิจการ การร่วมแก้ไขปัญหาของเกษตรกรการชี้แนะให้รู้จักแก้ไขปัญหาของตนเอง และการชี้แนะในการเลือกปัจจัยการผลิต ตามลำดับสำหรับเกษตรกรที่คาดหวังต่อบทบาทต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ส่วนมากเป็นเพศชาย อายุน้อย ระดับการศึกษาต่ำ มีรายได้ต่ำ และไม่เคยรับการอบรมที่วิทยาลัยจัด นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเกษตรกรที่มีความต่างกันในเรื่องของอายุ ระดับการศึกษา และระดับรายได้ จะมีความคาดหวังไม่ต่างกัน สำหรับเกษตรกรชายและหญิง ส่วนใหญ่มีความคาดหวังไม่ต่างกัน ยกเว้นบทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเกษตร การเป็นแบบอย่างทางด้านอาชีพเกษตร และการเป็นผู้ชี้แนะให้รู้จักแก้ไขปัญหาของตนเอง สำหรับเกษตรกรที่เคยรับการอบรมและไม่เคยรับการอบรมที่วิทยาลัยจัดเกือบทั้งหมดมีความคาดหวังไม่ต่างกัน ยกเว้นบทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเกษตร เกษตรกรให้ความสำคัญต่อบทบาทหลักตามลำดับดังนี้ การถ่ายทอดเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรเป็นลำดับแรก รองลงมาคือการให้คำปรึกษาแนะนำทางการเกษตร การให้บริการ การชี้แนะให้รู้จักแก้ไขปัญหาของตนเอง การเป็นผู้นำทางวิชาการเกษตรในท้องถิ่น ส่วนการร่วมแก้ไขปัญหาของเกษตรกรเป็นลำดับสุดท้าย สำหรับข้อคิดเห็นของเกษตรกรนั้นพบว่า การฝึกอบรมเกษตรกร การจัดรายการ เกษตรทางวิทยุ การจัดทำฟาร์มสาธิต ความเสมอภาคในการให้บริการ เหมาะสมแล้ว แต่การให้คำปรึกษาแนะนำ ความสนใจของครู-อาจารย์ต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร การให้บริการของนักศึกษา การบริการพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และเอกสารทางการเกษตร ยังมีน้อยไม่ทั่วถึง นอกจากนี้เกษตรกรส่วนมากยังทราบเพียงว่าวิทยาลัยมีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนในระบบเท่านั้น ข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้คือ วิทยาลัยควรจะแสดงบทบาทให้เหมาะสมหรือถูกต้องกับกลุ่มเกษตรกรที่จำแนกตามลักษณะของความคาดหวัง ให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหน้าที่ของวิทยาลัยให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้องและทั่วถึง พร้อมทั้งครู-อาจารย์ควรจะได้มีความใกล้ชิด ให้ความสนใจต่อการประกอบอาชีพ และเป็นกันเองกับเกษตรกรให้มากขึ้น นอกจากนี้วิทยาลัยควรจะสนับสนุนให้นักศึกษาได้จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรโดยไม่กระทบกระเทือนต่อการเรียนปกติ และควรเพิ่มในเรื่องการผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และเอกสารทางการเกษตรให้ตรงตามความต้องการ มีความเหมาะสมต่อกลุ่มของเกษตรกร และมีจำนวนเพียงพอด้วย
URI: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15212
Appears in Collections:993 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา



Items in PSU Knowledge Bank are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.