กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15236
ชื่อเรื่อง: สภาพการผลิตและการตลาดผักของสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกผักในจังหวัดสงขลา ปี 2548
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: สามารถ, ลักขณา
คำสำคัญ: ความไม่มั่นคงทางอาหาร
วันที่เผยแพร่: 2548
สำนักพิมพ์: กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
บทคัดย่อ: การศึกษาสภาพการผลิตและการตลาดผักของสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกผักในจังหวัดสงขลา ปี 2548 วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร สภาพการผลิตและการตลาด ต้นทุนผลตอบแทน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคการผลิต การตลาดและอื่นๆ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ 242 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม SPSS รายงานผลการศึกษานำเสนอในภาพรวมตามลักษณะผัก 3 ชนิด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง และผักคะน้า ซึ่งเป็นตัวแทนผักทั้งหมดในการศึกษาสรุปผลการศึกษา ดังนี้ 1. ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกรเป็นเพศชาย ร้อยละ 75.62 อายุเฉลี่ย 45.74 ปี รายได้ครอบครัวต่อปีเฉลี่ย 76,738.08 บาท จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 69.42 สมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 4.43 คน และสมาชิกที่เป็นแรงงานในการทำสวนผักเฉลี่ย 2.25 คน 2. สภาพการผลิตและการตลาด 2.1) สภาพการผลิตและการตลาดผักบุ้ง พบว่า เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกผักบุ้งเฉลี่ย 1.19 ไร่ เป็นพื้นที่ถือครองของตนเองร้อยละ 97.50 ปลูกผักบุ้ง 4-6 รุ่นต่อปี ระยะเวลาการปลูก19-22 วันต่อรุ่น การปลูกแบบสวนผัก ร้อยละ 95.00 และปลูกต่อเนื่องตลอดปี ร้อยละ 72.50 เกษตรกรทั้งหมดใส่ปุ๋ยบำรุงผักทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ร้อยละ 97.50 เกษตรกรทั้งหมดระบุว่าไม่ค่อยพบโรคที่เกิดกับผักบุ้ง จึงไม่ได้ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด เกษตรกรทั้งหมดกำจัดวัชพืชโดยวิธีการถากและถอน ให้น้ำโดยการใช้สายยางลากรด ร้อยละ 78.75 สำหรับสภาพการตลาด พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำความสะอาดและตัดแต่งผักก่อนจำหน่าย ส่วนการคัดเกรดผักมีเพียงร้อยละ 28.75 เกษตรกรจำหน่ายผักให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นที่มารับซื้อที่สวน ลักษณะผักที่ตลาดต้องการคือลำต้นสีเขียว ลำต้นมีความยาว 1.15 ฟุต 2.2) สภาพการผลิตและการตลาดผักกวางตุ้ง พบว่าเกษตรกรมีพื้นที่ปลูกผักกวางตุ้งเฉลี่ย 1.89 ไร่ เป็นพื้นที่ถือครองของตนเองร้อยละ 87.80 ที่เหลือเป็นพื้นที่เช่าและของญาติ ปลูกผักกวางตุ้ง 3-4 รุ่นต่อปี ระยะเวลาการปลูกต่อรุ่นมากกว่า 60 วันและน้อยกว่า 40 วัน การปลูกแบบสวนผัก ร้อยละ 56.10 ที่เหลือปลูกหลังจากทำนา และปลูกต่อเนื่องตลอดปี ร้อยละ 53.66 เกษตรกรส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยบำรุงผักทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ร้อยละ 86.58 ระบุว่าพบโรคที่เกิดกับผักกวางตุ้งร้อยละ 68.29 ได้แก่ โรคที่เกิดจากเชื้อรา โคนเน่า อื่นๆ จึงใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ร้อยละ 51.22 กำจัดวัชพืชโดยวิธีการถากและถอน ให้น้ำโดยการใช้สายยางลากรด ร้อยละ 67.07 สำหรับสภาพการตลาด พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำความสะอาดและตัดแต่งผักก่อนจำหน่าย และคัดเกรดผักร้อยละ 65.85 จำหน่ายผักให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นที่มารับซื้อที่สวน ลักษณะผักที่ตลาดต้องการคือลำต้นอวบและสีเขียวอ่อน 2.3) สภาพการผลิตและการตลาดผักคะน้า พบว่าเกษตรกรมีพื้นที่ปลูกผักคะน้าเฉลี่ย 2.28 ไร่ เป็นพื้นที่ถือครองของตนเองร้อยละ 93.75 ที่เหลือเป็นพื้นที่เช่าและของญาติ ปลูกผักคะน้า 3-4 รุ่นต่อปี ระยะเวลาการปลูกน้อยกว่า 45 วันต่อรุ่น การปลูกแบบสวนผักร้อยละ 90.00 และปลูกต่อเนื่องตลอดปี ร้อยละ 87.50 เกษตรกรใส่ปุ๋ยบำรุงผักทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ร้อยละ 84.42 เกษตรกรระบุว่าพบโรคที่เกิดกับผักคะน้า ร้อยละ 66.25 โรคที่เกิดจากเชื้อรา รากเน่าและอื่นๆ จึงใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดร้อยละ 75.47 กำจัดวัชพืชโดยวิธีการถอนและถาก ให้น้ำโดยการใช้สายยางลากรด ร้อยละ 70.00 สำหรับสภาพการตลาดพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำความสะอาดผัก ตัดแต่งผักก่อนจำหน่าย และได้คัดเกรดผัก ร้อยละ 70.00 หน่ายผักหรือขายปลีกด้วยตนเองและพ่อค้าในท้องถิ่นที่มารับซื้อที่สวน ลักษณะผักที่ตลาดต้องการคือลำต้นอวบและสีเขียวอ่อน ขนาดลำต้นมีความยาวปานกลาง 3. ต้นทุนและผลตอบแทน 3.1) ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตผักบุ้ง/ไร่ พบว่าเกษตรกรใช้ต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 1,525.01 บาท ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,360.25 กิโลกรัม ราคาที่ขายได้เฉลี่ย 6.25 บาทต่อกิโลกรัม และรายได้รวมจากการขายผักบุ้งเฉลี่ย 8,501.56 บาท ดังนั้น เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 6,976.55 บาท 3.2) ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตผักกวางตุ้ง /ไร่ พบว่า เกษตรกรใช้ต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 14,014.01 บาท ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 2,067.72 กิโลกรัม ราคาที่ขายได้เฉลี่ย 8.33 บาทต่อกิโลกรัม และรายได้รวมจากการขายผักกวางตุ้งเฉลี่ย 17,224.11 บาท ดังนั้น เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 3,210.10 บาท 3.3) ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตผักคะน้า/ไร่ พบว่าเกษตรกรใช้ต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 20,823.79 บาท ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 2,269.62 กิโลกรัม ราคาที่ขายได้เฉลี่ย 13.58 บาทต่อกิโลกรัม และรายได้รวมจากการขายผักคะน้าเฉลี่ย 30,821.44 บาท ดังนั้น เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 9,997.65 บาท 4. ปัญหาและอุปสรรค 4.1) ปัญหาการผลิต ได้แก่ ปัญหาการผลิตเกี่ยวกับโรคและแมลง แหล่งน้ำไม่เพียงพอ ปุ๋ยเคมีและเมล็ดพันธุ์ราคาแพง นอกจากนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพดิน น้ำท่วมขัง ต้นทุนการผลิตสูง น้ำมันราคาแพง ขาดเงินทุน ขาดแรงงาน ค่าจ้างแรงงานสูง และอื่นๆ 4.2) ปัญหาการตลาด ได้แก่ ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและราคาไม่แน่นอน ไม่มีตลาดพ่อค้าคนกลางกดราคาและอื่นๆ และจากผลการศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ควรส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรตัดสินใจเลือกปลูกผักที่ให้ผลตอบแทนทางการเงินสูง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก 2) ให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการผลิตการวางแผนการผลิตและการตลาด 3) แนะนำให้เกษตรกรเลือกพันธุ์ผักที่ให้ผลผลิตสูง เชื่อถือได้และมีการรับรองพันธุ์ 4) ส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต 5) ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษเพื่อลดการใช้สารเคมี 6) ปรับเปลี่ยนวิธีการให้น้ำผักแทนการใช้สายยางลากรด เช่น ใช้ระบบน้ำแบบมินิสปริงเกอร์ 7) ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่มีส่วนร่วมกับเกษตรกรในการผลิตเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการผลิต 8) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรควรมีข้อมูลปัจจุบันเบื้องต้นด้านการผลิตในพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแก่พ่อค้าผัก 9) ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิต 10) ควรมีนโยบายการจัดตั้งตลาดกลางจำหน่ายผัก
URI: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15236
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:993 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
สภาพการผลิตและการตลาดผักของสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกผักในจังหวัดสงขลา ปี 2548.docx14.22 kBMicrosoft Word XMLดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น