กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้:
http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15198
ชื่อเรื่อง: | การใช้ปุ๋ยกับลองกองในภาคใต้ของประเทศไทย |
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: | สุพจน์, ชัยวิมล สุวิช, ทาเจริญ |
คำสำคัญ: | ความไม่มั่นคงทางอาหาร |
วันที่เผยแพร่: | 2541 |
สำนักพิมพ์: | กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร |
บทคัดย่อ: | ภาคใต้เป็นแหล่งปลูกไม้ผลที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะลองกอง เพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่ดีนั้น เกษตรกรจะต้องใช้ปุ๋ยซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งมีทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ โดยปุ๋ยเคมีจะให้ธาตุอาหารหลักที่สำคัญแก่พืช ส่วนปุ๋ยอินทรีย์นั้นนอกจากจะช่วยให้ลองกองมีคุณภาพและผลผลิตที่ดีแล้วยังช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินในสวนลองกองอีกด้วย จึงเห็นควรที่จะทำการศึกษารูปแบบการใช้ปุ๋ยกับลองกองของเกษตรกรในพื้นที่ ดังกล่าว วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อศึกษาถึงสภาพพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมบางประการของเกษตรกร วิธีการใช้ปุ๋ยและปัจจัยการผลิตในรูปแบบต่าง ๆ ความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยกับลองกองของเกษตรกร ตลอดจนปัญหาในทางปฏิบัติและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำสวนลองกองของเกษตรกร ประชากรที่ทำการศึกษาครั้งนี้คือ เกษตรกรผู้ปลูกลองกองในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ จังหวัดระนอง ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมเกษตรกรที่ทำการสัมภาษณ์ทั้งสิ้น 100 ราย ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่าคะแนนความถี่ ค่าร้อยละ ค่าพิสัย และค่ามัชฌิมเลขคณิต นอกจากนั้นยังได้สัมภาษณ์เกษตรกรเจ้าของสวนลองกองที่ชนะเลิศการประกวดของจังหวัดนราธิวาส จำนวน 3 สวน อีกด้วย ผลจากการศึกษาปรากฎว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชายและเป็นหัวหน้าครอบครัว จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 เป็นส่วนใหญ่ อายุเฉลี่ย 44.02 ปี จำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 5.08 คน แต่มีแรงงานเฉลี่ยเพียง 2.41 คน ประกอบอาชีพหลักโดยการทำสวนยางพาราร้อยละ 76 มีขนาดพื้นที่ถือครองทางการเกษตรเฉลี่ย 19.16 ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 91,755.23 บาทต่อปี มีเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตรคือ เครื่องสูบน้ำร้อยละ 64 เครื่องตัดหญ้าร้อยละ 40 และเครื่องพ่นยาร้อยละ 36 มีการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่เฉลี่ย 6.38 ครั้งต่อปี และส่วนใหญ่ร้อยละ 73 เคยเข้ารับการอบรมเรื่องการใช้ปุ๋ยกบไม้ผล เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการกู้เงิน มีเพียงร้อยละ 29 ที่กู้เงินเพื่อใช้ในการทำสวน ความรู้ที่ใช้ในการทำสวนส่วนใหญ่ได้รับจากเกษตรตำบลร้อยละ 59 และโทรทัศน์ร้อยละ 65 เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 74 มีพื้นที่ปลูกลองกองขนาด 1-5 ไร่ อายุ ของลองกองที่ปลูกมีอายุระหว่าง 6-10 ปี เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 34 ใช้ระยะปลูกลองกอง 6x6 เมตร โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 81 จะปลูกลองกองแซมระหว่างไม้ผลไม้ยืนต้นอื่น ๆ เช่น ยางพาราทุเรียน มังคุด สะตอ เหรียง ลำไย จำปาดะ มะพร้าว และขนุน เป็นต้น สำหรับการใช้ปุ๋ยกับลองกองของเกษตรกรนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 32 จะให้ปุ๋ยแก่ลองกองเพียงครั้งเดียวในช่วงระยะหลังเก็บเกี่ยว ร้อยละ 20 มีการให้ปุ๋ย 3 ระยะ คือ ระยะหลังเก็บเกี่ยว ก่อนออกดอกและติดผลอ่อน ร้อยละ 17 ให้ปุ๋ย 2 ระยะ คือ ระยะหลังเก็บเกี่ยวและก่อนออกดอก ส่วนผู้ที่ให้ปุ๋ยกับลองกองครบทั้ง 4 ระยะ คือ ระยะหลังเก็บเกี่ยว, ก่อนออกดอก,ติดผลอ่อน และปรับปรุงคุณภาพมีเพียงร้อยละ 11 โดยในระยะหลังเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะทำการตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ยถึงร้อยละ 96 โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ใส่ในอัตรา 1-3 กิโลกรัมต่อต้นคิดเป็นร้อยละ 34 ในระยะก่อนออกดอกเกษตรกรจะทำการงดการให้น้ำลองกองประมาณ 1 เดือน และให้ปุ๋ยคิดเป็นร้อยละ 54 โดยส่วนใหญ่จะให้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 เพื่อกระตุ้นการออกดอกคิดเป็นร้อยละ 16 ระยะติดผลอ่อนเกษตรกรจะทำการตัดแต่งช่อดอกและผลอ่อนบางรายจะใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินเสริมด้วย โดยเกษตรกรจะให้ปุ๋ยในช่วยนี้คิดเป็นร้อยละ 43 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 24 จะใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 0.5-2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงผลอ่อน ให้โต สำหรับในระยะปรับปรุงคุณภาพ พบว่า เกษตรกรมีการให้ปุ๋ยกับลองกองน้อยมากเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น โดยในช่วงนี้เกษตรกรจะทำการให้น้ำโดยสม่ำเสมอ และตัดแต่งผลและช่อดอกที่แน่นเกินไปออก ส่วนปุ๋ยเคมีเกษตรกรจะนิยมใช้สูตร 13-13-21 เพื่อปรับปรุงคุณภาพของลองกองคิดเป็นร้อยละ 12 สำหรับปุ๋ยและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ที่เกษตรกรใช้ พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ต่าง ๆ ร่วมกับปุ๋ยเคมี ส่วนฮอร์โมนจิบเบอเรลลินและธาตุอาหารรองเช่น แคลเซียม เกษตรกรยังไม่รู้จักวิธีการใช้มากนัก โดยปุ๋ยอินทรีย์เกษตรกรจะนิยมใช้มูลไก่ไข่และไก่เนื้อมาก ส่วนปุ๋ยเคมีเกษตรกรจะนิยมใช้สูตร 15-15-15, 16-16-16, 8-24-24, 13-13-21 มากโดยตราปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้คือ หัววัว-คันไถ ซุปเปอร์สตาร์ สามห่วง กระต่ายม้าและสิงห์โต และเรือใบไวกิ้ง เป็นต้น เกษตรกรร้อยละ 39 นิยมใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืช ร้อยละ 80 ไม่เคยเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ ร้อยละ 51 ไม่เคยใช้ปูนขาวในการปรับปรุงบำรุงดิน เกษตรกรร้อยละ 36จะนิยมให้พ่อค้ารับซื้อเป็นผู้เก็บผลผลิต และร้อยละ 44 นิยมให้พ่อค้ามารับซื้อผลผลิตที่สวน สำหรับความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยกบลองกองของเกษตรกรพบว่าร้อยละ 64 ตอบคำถามได้คะแนนความรู้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปัญหาในการทำสวนลองกองนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 53 ตอบว่า ไม่มีปัญหา มีเพียงส่วนน้อยที่ตอบว่ามี คือ ร้อยละ 20 ตอบว่า มีปัญหาเรื่องหนอนเจาะเปลือลองกองชอบทำลายลำต้น ร้อยละ 9 ตอบว่า แหล่งน้ำในหน้าแล้งมีไม่เพียงพอ ร้อยละ 5 ตอบว่า ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง ร้อยละ 4 ตอบว่า ดินเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสมต่อการปลูกลองกองและลองกองเป็นโรค ร้อยละ 3 ตอบว่า ขาดแคลนเงินทุนในการซื้อปุ๋ย ร้อยละ 2 ตอบว่า ดินขาดอินทรียวัตถุและลองกองเจริญเติบโตช้า ส่วนข้อเสนอแนะที่จะทำให้การทำสวนลองกองประสบผลสำเร็จนั้นเกษตรกรร้อยละ 10 ตอบว่า ควรให้น้ำลองกองอย่างสม่ำเสมอ ร้อยละ 9 ตอบว่า ควรดูแลการตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ ร้อยละ 8 ตอบว่า จะต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกเวลา ร้อยละ 5 ตอบว่า ควรทำสวนให้สะอาดและควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี และร้อยละ 2 ตอบว่า ควรใช้ต้นลองกองที่เกิดจากการเพาะเมล็ดมาปลูกดีกว่าใช้ต้นลองกองที่ได้จากการตอนกิ่งมาปลูก สำหรับปัจจัยที่ทำให้การทำสวนลองกองประสบผลสำเร็จนั้น เกษตรกรที่ชนะเลิศการประกวดสวนลองกองในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 3 สวน ตอบว่า จะต้องมีการจัดให้สภาพสวนมีความชุ่มชื้นเพียงพอ โดยการปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เช่น มะพร้าว การปลูกพืชแซมเพื่อเสริมรายได้ เช่น กล้วย ชะอม ดาหลา และเฮลิโคเนีย การปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน และการปล่อยให้มีหญ้าปกคลุมผืนดินอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนการปล่อยให้มีป่าละเมาะบริเวณรอบ ๆ สวน การใส่ปุ๋ยให้ถูกสูตร อัตรา และระยะเวลา คือ อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การทำสวนลองกองประสบผลสำเร็จ กล่าวคือ ในระยะหลังเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น ระยะก่อนออกดอก ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อตรา 1-2 กิโลกรัม ระยะติดผลอ่อนใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น โดยมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (มูลไก่) ควบคู่กันไปด้วยในอัตรา 20 กิโลกรัมต่อต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะปรับปรุงคุณภาพเกษตรกรทั้ง 3 สวน ไม่ได้มีการใช้ปุ๋ยบำรุงแต่อย่างใด หากแต่รุ่นระยะการใช้ปุ๋ยในช่วงติดผลอ่อน โดยมาให้ในระยะผลโตขนาดเท่านิ้วก้อยแทน ซึ่งตรงกับรายงานผลการวิจัยครั้งนี้ที่พบว่า มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 11 ที่ใช้ปุ๋ยเคมีครบทั้ง 4 ระยะตามที่ทางราชการแนะนำคือ ระยะหลังเก็บเกี่ยว ก่อนออกดอก ติดผลอ่อนและระยะปรับปรุงคุณภาพ เกษตรกรทั้ง 3 สวน ใช้ระบบน้ำแบบระบบน้ำดันและน้ำเหวี่ยง และมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทำให้ผลผลิตลองกองที่ได้มีคุณภาพดี ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยคือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรควรถ่ายทอดความรู้เรื่องของปุ๋ยเคมีและบทบาทของธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมที่มีต่อผลผลิตและคุรภาพของลองกองให้มากขึ้น โดยเฉพาะสารฮอร์โมนจิบเบอเรลลินที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของลองกองควรแนะนำให้เกษตรกรเก็บตัวอย่างดิน เพื่อจะได้ปรับปรุงดินโดยการใช้ปูนขาวหรือปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยควรวิจัยถึงช่วงระยะเวลาและปริมาณการใช้ปุ๋ย และฮอร์โมนที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตของลองกอง วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาผลลองกองแตกช่วงระยะเก็บเกี่ยว และวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเปลือกที่ชอบทำลายลำต้นของลองกอง เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สำหรับนำเอาความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไป |
URI: | http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15198 |
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล: | 993 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา |
แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม | รายละเอียด | ขนาด | รูปแบบ | |
---|---|---|---|---|
การใช้ปุ๋ยกับลองกองในภาคใต้ของประเทศไทย.docx | 15.9 kB | Microsoft Word XML | ดู/เปิด |
รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น