กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15190
ชื่อเรื่อง: กลยุทธ์การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งฆ้อ ตำบลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: นายสำราญ, นิลรัตน์
คำสำคัญ: ความไม่มั่นคงทางอาหาร;การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
วันที่เผยแพร่: 2550
สำนักพิมพ์: กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
บทคัดย่อ: โครงการวิจัยกลยุทธ์การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งฆ้อ ตำบลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาบริบทของชุมชนและสถานการณ์วิสาหกิจชุมชน (2) ศึกษาและพัฒนากระบวนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองที่เหมาะสม และ (3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) โดยมีผู้เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงานวิจัย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง เขต จังหวัด อำเภอ ตำบล และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งฆ้อ จังหวัดสงขลา ผลการวิจัย พบว่า (1) บริบทของชุมชนและสถานการณ์วิสาหกิจชุมชน เป็นชุมชนเกษตรประกอบอาชีพหลักปลูกยางพารา และประกอบอาชีพเสริมปลูกถั่วลิสง สำหรับสถานการณ์วิสาหกิจชุมชน เริ่มการจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งฆ้อ เมื่อปี 2544 และปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 20 คน และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2548 ได้รับการประเมินอยู่ในระดับดี เริ่มแรกดำเนินกิจกรรมร้านค้าสวัสดิการ รับซื้อน้ำยางสด และมีการปลูกถั่วลิสงและแปรรูปจำหน่ายภายในชุมชน เป้าหมายในการรวมกลุ่ม เพื่อพบปะสังสรรค์ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำกิจกรรมเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เช่น กิจกรรมร้านค้าชุมชน ออมทรัพย์ น้ำผลไม้ และดอกไม้จันทน์ (2) กลยุทธ์การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเอง ประกอบด้วย การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง เช่น การจัดเวทีเรียนรู้หลัก เวทีย่อย และกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การทำแปลงเรียนรู้ การศึกษาและทดสอบผลิตภัณฑ์ มีการจัดทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กร การพัฒนาผลิตภัณฑ์/กิจกรรม และการพัฒนาการตลาด (3) ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ สมาชิกและครอบครัว เงินทุน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะการผลิต การมีกฎระเบียบและข้อตกลงร่วมกัน การติดต่อประสานงานภาคี ทรัพยากรในชุมชน ผู้รู้และมีประสบการณ์ การคมนาคมสะดวก การมีตลาดรองรับ การผลิตสินค้าสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณี การมีสวัสดิการในชุมชน การร่วมกิจกรรมในชุมชน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำงานแบบบูรณาการและการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคี ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองในด้านต่างๆ ได้แก่ (1) ด้านเทคโนโลยี มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในผลิตถั่วลิสงคั่วทราย ผสมผสานกับความรู้วิชาการ มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเปิดรับข้อมูลข่าวสาร (2) ด้านเศรษฐกิจ มีการพัฒนาการปลูกเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า มีกิจกรรมที่เกื้อหนุนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (3) ด้านทรัพยากร ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลักและอย่างเหมาะสม มีการปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (4) ด้านจิตใจ มีความภูมิใจ มั่นใจในการเข้าร่วมกิจกรรม มีความสุขและรักในการทำงานร่วมกัน และ (5) ด้านสังคม อยู่แบบสังคมเครือญาติ ช่วยเหลือเอื้ออาทร สามัคคี มีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรม ผู้นำได้รับการยอมรับในสังคม มีการแบ่งปันผลประโยชน์ และมีสวัสดิการให้บริการแก่สมาชิกและชุมชน เช่น มีร้านค้าสวัสดิการและปันผล
URI: http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/15190
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:993 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา



รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น