|
กด Ctrl+F เพื่อค้นหาคำที่ต้องการในหน้านี้ |
:: ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 :: บทนิยาม ข้อ 1-4 :: หมวด1 คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ข้อ 5-10 :: หมวด2 วิธีการขออนุญาต ข้อ 11-14 :: หมวด3 การพิจารณาอนุญาต ข้อ 15-18 :: หมวด4 เงื่อนไขการอนุญาต ข้อ 19-28 :: หมวด5 ค่าตอบแทน ข้อ 29 :: หมวด6 เงินประกัน ข้อ 30-32 :: หมวด7 การควบคุม ข้อ 33-36 |
ขออภัยกำลังปรับปรุงข้อมูลบางลิงค์อาจมีปัญหา
ทางทีมงานปรับปรุงข้อมูลทุก 1 เดือน. Contact : webmaster
ทั้งหมดบน website นี้สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 โดยสำนักงานกฎหมาย มงคลธรรม ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมเยียน |
:: ระเบียบกระทรวงมหาดไทย :: ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 ข้อที่ 1-36 ตามที่ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ปรับบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงมหาไทย ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงได้โอนภารกิจงานการขออนุญาตดูดทรายจากกองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้กรมที่ดินดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้การควบคุมการประกอบการดูดทรายมิให้เป็นการทำลาย ทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน และมิให้เป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน ตาม มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงอาศัยอำนาจตาม มาตรา 20 แห่ง พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 4 กันยายน 2522 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย (ส่วนกลาง) ที่กำหนดให้การพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในจังหวัดต่างๆ และการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องเกี่ยวกับการดูดทรายทั้งปวง เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย (ส่วนกลาง) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546" ข้อ 2[1] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ข้อ 3 ให้ยกเลิก (1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2523 (2) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2525 (3) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 (4) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 (5) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2543 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน ข้อ 4 ในระเบียบนี้ "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย เรียกโดยย่อว่า "กพด." "คณะอนุกรรมการ" หมายความว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายซึ่ง กพด. แต่งตั้งขึ้น "การดูดทราย" หมายความว่า การดูด รวมถึง การตัก การขุด การขน หรือการกระทำด้วยประการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งทราย "ส่วนราชการ" หมายความว่า กระทรวง กรม จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการดูดทราย "จังหวัด" หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร "วัน" หมายความว่า วันทำการตามปกติของหน่วยงานของรัฐ "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายถึง พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน "เจ้าหน้าที่" หมายถึง เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานตามระเบียบนี้ :: หมวด 1 คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ข้อ 5 กพด. ประกอบด้วย (1) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ (2) อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน เป็นกรรมการ (3) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการ หรือผู้แทน (4) อธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นกรรมการ หรือผู้แทน (5) อธิบดีกรมชลประทานหรือผู้แทน เป็นกรรมการ (6) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้แทน เป็นกรรมการ (7) อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้แทน เป็นกรรมการ (8) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผน เป็นกรรมการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทน (9) ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัด เป็นกรรมการ ที่มีการขออนุญาตดูดทรายหรือผู้แทน (10) ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เป็นกรรมการ กระทรวงมหาดไทย (11) ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงาน เป็นกรรมการปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน (12) ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ (13) ผู้แทนส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ (14) ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินของรัฐ เป็นกรรมการและเลขานุการกรมที่ดิน (15) ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินของรัฐ เป็นกรรมการและกรมที่ดิน ผู้ช่วยเลขานุการ (16) หัวหน้ากลุ่มจัดการที่ดินของรัฐ เป็นผู้ช่วยเลขานุการสำนักจัดการที่ดินของรัฐ กรมที่ดิน (17) หัวหน้ากลุ่มงานจัดการที่ดินของรัฐ เป็นผู้ช่วยเลขานุการสำนักจัดการที่ดินของรัฐ กรมที่ดิน ข้อ 6 กพด. มีอำนาจหน้าที่ (1) พิจารณาอนุญาตให้ทำการดูดทรายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตพื้นที่ระหว่างประเทศ (2) พิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องเกี่ยวกับการดูดทรายทั้งปวง (3) พิจารณาวางระเบียบข้อบังคับตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูดทราย (4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายแทน กพด. ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตของ กพด. (5) เชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ (6) พิจารณาในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูดทราย ข้อ 7 การประชุม กพด. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม ถ้าในการประชุมคราวใด ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการด้วยกันคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ 8 ให้คณะอนุกรรมการประกอบด้วย (1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ (2) รองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับมอบหมาย เป็นอนุกรรมการ (3) ปลัดจังหวัด เป็นอนุกรรมการ (4) อัยการจังหวัดหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ (5) อุตสาหกรรมจังหวัดหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ (6) ผู้แทนกรมการขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี เป็นอนุกรรมการ (7) ผู้แทนกรมชลประทาน เป็นอนุกรรมการ (8) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ (9) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้า ประจำกิ่งอำเภอ เป็นอนุกรรมการ (10) ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้แทน ผู้แทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นในเขตท้องที่ที่มีการขออนุญาตให้ดูดทราย เป็นอนุกรรมการ (11) ผู้แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค เป็นอนุกรรมการ (12) ผู้แทนส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ (13) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เป็นอนุกรรมการ และเลขานุการ (14) หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ สำนักงานที่ดินจังหวัด (15) หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการที่ดิน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ หรือหัวหน้างานควบคุมและประสานงานสำนักงานที่ดินจังหวัด ข้อ 9 ให้คณะอนุกรรมการ มีหน้าที่ดังนี้ (1) พิจารณาการขออนุญาตให้ดูดทรายภายในจังหวัด (2) พิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องและแก้ไขปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับการดูดทราย (3) พิจารณาดำเนินการอื่นๆ ตามที่ กพด. มอบหมาย ข้อ 10 การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำความใน ข้อ 7 มาใช้บังคับโดยอนุโลม :: หมวด 2 วิธีการขออนุญาต ข้อ 11 ผู้ขออนุญาตดูดทราย จะดำเนินการดูดทรายได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อ 12 ให้ผู้ประสงค์ขออนุญาตดูดทรายยื่นคำขอตามแบบ ท.ด.64 ท้ายระเบียบนี้ พร้อมด้วยแผนที่ที่ดินบริเวณที่ขออนุญาตดูดทรายต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ ส่วนอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่รัฐมนตรีประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอตามความใน มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 แล้ว ให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา แล้วแต่กรณี และให้สอบสวนข้อเท็จจริง วัตถุประสงค์และเหตุผลที่ขออนุญาตโดยละเอียด ตามแบบ ท.ด.66 ท้ายระเบียบนี้ แผนที่แสดงบริเวณที่ดินที่ขออนุญาตดูดทรายให้แสดงให้เห็นว่าบริเวณใกล้เคียงที่ขออนุญาตมีถาวรวัตถุ หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างใดบ้าง หรือไม่ โดยใช้มาตราส่วนที่เหมาะสม ลายมือชื่อผู้เขียนแผนที่และลายมือชื่อผู้ขออนุญาต ในกรณีที่การขออนุญาตดูดทรายไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นใด ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ ด้วย ข้อ 13 เมื่อได้สอบสวนตาม ข้อ 12 แล้ว ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีการขออนุญาต ออกไปชันสูตรสอบสวนที่ดินที่ขออนุญาตดูดทรายว่าที่ดินที่ขออนุญาตดูดทรายเป็นที่ดินประเภทใด สภาพลักษณะของที่ดินเป็นอย่างไร มีโบราณวัตถุ โบราณสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ราชการอยู่ใกล้เคียงหรือไม่ ตามแบบ ท.ด.67 ท้ายระเบียบนี้ หากอนุญาตให้ผู้ขอทำการดูดทรายแล้วจะเกิดปัญหาในภายหน้าหรือไม่ให้แล้วเสร็จภายในห้าวัน ถ้านายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาเห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้ทำการดูดทรายก็ให้รายงานจังหวัด ภายในห้าวันนับแต่วันที่เห็นว่าไม่ควรอนุญาต ข้อ 14 เมื่อชันสูตรสอบสวนที่ดินแล้วถ้านายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา เห็นว่าควรอนุญาตให้ประกาศตามแบบ ท.ด.25 ท้ายระเบียบนี้โดยปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ที่ทำการกำนัน ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและที่บริเวณใกล้เคียงหรือในที่ดินนั้นมีกำหนดสามสิบวัน หากไม่มีการขัดข้องหรือคัดค้านอย่างใด ให้รายงานส่งเรื่องและชี้แจงไปจังหวัดภายในสามวัน ถ้ามีการคัดค้านหรือขัดข้องประการใด ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาสอบสวนพิจารณา เสร็จแล้วรายงานจังหวัดภายในสิบวันนับแต่วันครบกำหนดประกาศตามวรรคหนึ่ง :: หมวด 3 การพิจารณาอนุญาต ข้อ 15 ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดรวบรวมเรื่องราวการขออนุญาตดูดทรายแล้วให้นัดคณะอนุกรรมการ เพื่อตรวจสอบสถานที่ และประชุมพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่วันรับเรื่องจากอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา การพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ให้ถือหลักเกณฑ์ตามนัย ข้อ 18 เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ควรอนุญาตหรือไม่ควรอนุญาตให้แสดงเหตุผลไว้ด้วย แล้วให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมภายในสิบวันนับแต่วันประชุมเสร็จ แล้วรวบรวมเรื่องราว พร้อมรายงานการประชุมและบัญชีรายงานผลจำนวน 15 ชุด ให้กรมที่ดินเพื่อนำเสนอ กพด. ทราบ ข้อ 16 กพด. ต้องประชุมพิจารณาเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่ระหว่างประเทศให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน และแจ้งผลการพิจารณาให้จังหวัดทราบภายในห้าวัน นับแต่วันประชุมเสร็จ ข้อ 17 จังหวัดได้รับแจ้งมติ กพด. และเรื่องราวการขออนุญาตดูดทราย ซึ่ง กพด. พิจารณาอนุญาตแล้ว ก่อนที่จังหวัดจะออกใบอนุญาต ให้ตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าเห็นว่าครบถ้วนแล้วให้จังหวัดออกใบอนุญาตตามแบบ ท.ด. 69 ก. ท้ายระเบียบนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่จังหวัดได้รับแจ้งมติ กพด. ข้อ 18 หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายให้คำนึงถึง (1) ในด้านวิชาการ เช่น ความเสียหายแก่สภาพตลิ่ง สภาพธรรมชาติของลำน้ำ (2) ในด้านการปกครอง เช่น ความเดือดร้อนของราษฎร ความเสียหายทางเศรษฐกิจหรือทรัพยากรธรรมชาติ ให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (3) แม่น้ำลำคลองแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ :: หมวด 4 เงื่อนไขการอนุญาต ข้อ 19 ผู้ขออนุญาตดูดทรายต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติไทย และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้ (1) ดำเนินการด้วยตนเอง จะโอนสิทธิให้ผู้อื่นมิได้ (2) ทำการดูดทรายตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 18.00 น. (3) ไม่ทำการดูดทรายจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการหรือของผู้อื่น (4) ไม่ทำการเป็นที่กีดขวางการจราจร หรือก่อให้เกิดเสียงดังเป็นที่รบกวนบุคคลอื่น (5) แสดงใบอนุญาตไว้ประจำยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือเครื่องจักรกล ที่ใช้ดูดทราย ข้อ 20 ในกรณีใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุด ข้อ 21 ผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ควบคุมหรือคนงานประจำยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือเครื่องจักรกล ต้องยินยอมและให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ขึ้นไปทำการตรวจยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือเครื่องจักรกลที่ใช้ทำการดูดทราย รวมทั้งเรียกเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบได้ในระหว่างเวลาทำการของผู้ได้รับอนุญาต ข้อ 22 เมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลควบคุมการดูดทรายพบว่าได้มีการดูดทรายโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขตาม ข้อ 19 ข้อ 20 หรือ ข้อ 21 ให้มีอำนาจสั่งระงับการดูดทรายไว้ได้ชั่วคราวไม่เกินสามวันแล้วรายงานให้จังหวัดทราบเพื่อสั่งการต่อไป และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนจริง ให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้หยุดทำการดูดทรายทันทีหรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้ ข้อ 23 เมื่อใบอนุญาตให้ดูดทรายสิ้นอายุหรือผู้ได้รับอนุญาตถูกสั่งให้หยุดทำการ หรือเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องหยุดทำการดูดทรายทันทีนับแต่วันสิ้นอายุใบอนุญาตหรือได้รับคำสั่งดังกล่าวเป็นหนังสือ ข้อ 24 ภายในกำหนดเวลาอนุญาต หากผู้ได้รับอนุญาตอ้างว่าดูดทรายไม่ได้ด้วยประการใดๆ ก็ตาม ให้ถือว่าเป็นเรื่องของผู้ได้รับอนุญาตที่ควรรู้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นมาก่อน จะนำมาเป็นข้ออ้างในการขอยืดเวลากำหนดอนุญาตหรือขอลดหย่อนค่าตอบแทนมิได้ ข้อ 25 การตีราคาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดูดทราย ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้พิจารณา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วให้ถือว่าเป็นเด็ดขาด ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องชำระค่าเสียหายภายในวงเงินนั้นโดยยินยอมให้หักจากเงินประกันแล้วให้รายงาน กพด. ทราบ ข้อ 26 ใบอนุญาตให้ดูดทรายให้มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินที่ขออนุญาตดูดทรายตั้งอยู่ส่วนอำเภอ หรือกิ่งอำเภอที่รัฐมนตรีประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอตามความใน มาตรา 19 แห่ง พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 แล้ว ให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา แล้วแต่กรณี ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน เมื่อได้ยื่นคำขอดังกล่าวแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าจะได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น การขอต่ออายุใบอนุญาตตามวรรคสอง หากผู้ได้รับอนุญาตไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ได้รับอนุญาตไม่ประสงค์จะขอต่อใบอนุญาต ข้อ 27 จังหวัดอาจพิจารณาวางเงื่อนไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่น โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการได้ ข้อ 28 เมื่อ กพด. หรือคณะอนุกรรมการ ได้มีมติอนุญาตให้ดูดทรายหรืออนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้ขอรับอนุญาตดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือคำขอต่ออายุใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบมติอนุญาต หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้ขอรับอนุญาตไม่ดำเนินการยื่นคำขอโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่าผู้ขอรับอนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไปและให้งดเว้นการออกใบอนุญาต :: หมวด 5 ค่าตอบแทน ข้อ 29 ผู้ประกอบการดูดทราย เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปีให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติจังหวัด แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน :: หมวด 6 เงินประกัน ข้อ 30 ให้จังหวัดเรียกเก็บเงินประกันตามจำนวนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจาก ผู้ได้รับอนุญาตในวันที่จังหวัดออกใบอนุญาตให้ดูดทราย เพื่อเป็นค่าชดใช้ความเสียหายที่จะเกิดจากผลของการดูดทราย เงินประกันให้เก็บรักษาไว้เป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อเป็นค่าชดใช้ความเสียหายและค่าปรับ ถ้าเงินประกันลดน้อยถอยลงไป เนื่องจากนำไปเป็นค่าชดใช้ความเสียหาย หรือค่าปรับให้จังหวัดเรียกเงินเพิ่มจากผู้ประกอบการดูดทรายไว้ให้ครบเต็มตามจำนวน ข้อ 31 ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสียค่าปรับให้จังหวัดในกรณีที่ทำผิดเงื่อนไข ค่าปรับให้เรียกจากเงินประกัน ข้อ 32 เงินประกันที่เก็บรักษาไว้ตาม ข้อ 30 เมื่อครบกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้วให้คืนแก่ผู้ได้รับอนุญาต :: หมวด 7 การควบคุม ข้อ 33 เมื่อมีการอนุญาตให้ดูดทรายในท้องที่ใดแล้ว ให้จังหวัดประชุมชี้แจงหรือประกาศให้ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ ที่ได้มีการอนุญาตให้ดูดทรายทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันออกใบอนุญาต เพื่อให้ทราบถึงมาตรการที่จังหวัดได้วางไว้เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้การดูดทรายทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราษฎร พร้อมทั้งแจ้งให้ราษฎรทราบด้วยว่า หากผู้ได้รับอนุญาตได้ทำการดูดทรายโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ ข้อ 34 ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการดูดทรายในท้องที่ใด ก่อนที่จะดำเนินการจะต้องจัดทำแผ่นป้ายประกาศแสดงไว้ในบริเวณที่ทำการให้ราษฎรทราบตลอดระยะเวลาที่ทำการอยู่นั้น โดยแผ่นป้ายนี้จะต้องจัดทำให้เสร็จสิ้นก่อนดำเนินการดูดทราย แผ่นป้ายประกาศต้องทำด้วยวัสดุที่มีความมั่นคงแข็งแรง ต้องมีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร เขียนด้วยตัวหนังสือที่ชัดเจน มีข้อความแสดงชื่อผู้ได้รับอนุญาต กิจการ กำหนดเวลา จำนวนเนื้อที่ที่ได้รับอนุญาต และแผนที่สังเขปแสดงบริเวณที่ได้รับอนุญาตนั้นด้วย ข้อ 35 ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดทำทุ่นหรือเครื่องหมายอื่นใด เพื่อแสดงขอบเขตที่ได้รับอนุญาตให้ดูดทราย ให้ทราบตลอดระยะเวลาที่ทำการอยู่นั้น ข้อ 36 ให้จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรา ควบคุมดูแล ให้การดำเนินการดูดทรายเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด :: ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 :: (ลงชื่อ) วันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย |
|