จังหวัดสงขลาร่วมหารือหลายภาคส่วนเตรียมรื้อถอนโครงสร้างแข็งที่สร้างรุกล้ำชายหาด ทั้งถุงทราย เขื่อนดักทราย และสถานีสูบน้ำเสีย เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ พร้อมเติมทรายจากปากคลองสำโรงถึงรูปปั้นนางเงือก หวังปรับสมดุลชายหาดในระยะยาว
สืบเนื่องจากกรมเจ้าท่า ร่วมกับสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จัดเวทีเสนอทางเลือก และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 2 ในโครงการศึกษาผลกระทบและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คนสงขลาเลือกแนวทางที่ 8 “เติมทราย-รื้อโครงสร้างแข็ง” แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งหาดชลาทัศน์) ได้ข้อสรุปว่า คนสงขลาต้องการให้แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ ซึ่งเกิดการกัดเซาะรุนแรงต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ด้วยวิธีการรื้อโครงสร้างแข็งที่ก่อสร้างรุกล้ำลงไปในทะเล และเติมทรายเสริมชายหาด เพื่อช่วยฟื้นฟูสมดุลชายหาด
ทั้งนี้ โครงสร้างแข็งดังกล่าว ได้แก่ แนวถุงทรายกันคลื่น คันดักทรายรูปตัวที หรือทีกลอย และสถานีสูบน้ำเสีย ซึ่งสร้างจากงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ คือ กรมโยธาธิการและผัง กรมเจ้าท่า และเทศบาลนครสงขลา และเพื่อให้โครงการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะผู้รับผิดชอบโครงการจึงจำเป็นจะต้องเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ร่วมหารือกันอีกครั้งเพื่อทบทวนวิธีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสงขลา มีนายพิรสิญจน์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยนักวิชาการ และตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านชุมชนเก้าเส้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยตรง
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-หาดชลาทัศน์ ผลจากการประชุมทบทวนวิธีการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ ได้ข้อสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์ ว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งชาวประมงพื้นบ้าน นักวิชาการ คณะผู้ออกแบบโครงการ และหน่วยงานราชการซึ่งเป็นเจ้าของโครงสร้างแข็งที่สร้างรุกล้ำลงไปในทะเล เห็นด้วยกับวิธีการรื้อโครงสร้างแข็งดังกล่าว และเติมทรายเสริมชายหาดกว้าง 50 เมตร ในระยะทาง 5 กิโลเมตร ตั้งแต่ปากคลองสำโรง จนถึงรูปปั้นนางเงือก เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งหลังจากนี้คณะผู้ออกแบบโครงการจะศึกษาและออกแบบรายละเอียดและผลกระทบต่างๆ มานำเสนออีกครั้งหนึ่ง
“ผลของการประชุมครั้งนี้ คือ คณะทำงานของการประชุมแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งของจังหวัด ทีมงานวิจัยเหมือนมารายงานความก้าวหน้า โดยเชิญตัวแทนของหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย เราได้รับโจทย์จากการประชุมครั้งที่แล้วซึ่งในที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าต้องการรูปแบบที่ 8 คือต้องการเสริมทรายและรื้อโครงสร้างทั้งหมดออก แต่จากการที่เรานำวิธีการนี้ไปคำนวณในแบบทดลองพบว่าจำเป็นต้องเสริมทรายมากกว่าเดิม คือ 50 เมตร และโครงสร้างบางส่วนก็จำเป็นต้องรื้อ ซึ่งวิธีการนี้อาจจะส่งผลกระทบกับบ้าน 2 หลังในชุมชนประมงเก้าเส้ง วันนี้เป็นที่ยินยอม ก็เป็นสิ่งที่ดี มีการประนีประนอมกัน ชุมชนประมงเองก็ยินดีเลือกรูปแบบที่ 8 แต่ถ้าเป็นไปได้เขาขอให้คงแนวหินทิ้งตรงหน้าบ้านไว้แล้วกลบทรายไป ซึ่งทางนักวิชาการ และผู้เข้าร่วมประชุมก็ไม่ได้มีข้อโต้แย้ง พูดง่ายๆ คือในที่ประชุมมีข้อตกลงกันว่า ในหลักการเราจะรื้อโครงสร้างที่เป็นสิ่งรุกล้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ถ้าไม่ติดระเบียบในเรื่องของครุภัณฑ์ ส่วนไหนที่ติดระเบียบไม่สามารถรื้อได้ก็คงจะต้องเติมทรายกลบไปเลย” ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล กล่าว
ซึ่งหลังจากนี้คณะผู้ออกแบบโครงการแก้ปัญหาและกัดเซาะชายฝั่งหาดมิหลา – ชลาทัศน์ ต้องดำเนินการศึกษาข้อกฎหมายว่าการรื้อโครงสร้างแข็งที่รุกล้ำลงไปในทะเลนั้นติดขัดข้อกฎหมายอะไร และต้องประสานงานกับหน่วยงานใดบ้าง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขั้นตอนวิธีการรื้อโครงสร้างแข็ง เพื่อออกแบบรายละเอียดโครงการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ ทั้งในแง่ของการทำประมง สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ จากนั้นจะนำเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียฯ ครั้งที่ 3 ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป