บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในบทนี้กล่าวถึง หลักการและแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับงานความสัมพันธ์ระหว่าง โรงเรียนกับชุมชน ผู้วิจัยจะได้นำเสนอตามลำดับ ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา การบริหารโรงเรียน ความหมายของงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ความสำคัญของงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน หลักการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน วิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน บทบาทของโรงเรียนและผู้บริหารต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ขอบข่ายงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ปัญหาการบริหารงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา การจัดการศึกษาของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างทางการศึกษาของไทยแข็งตัวมาก ไม่มีช่องว่างให้ชุมชนเข้าไปมีบทบาท ประกอบกับชุมชนเองก็ได้ศูนย์เสียสถานภาพในการจัดการศึกษาที่เคยมีมาแต่เดิมไปแล้ว คงเหลือเพียงอำนาจทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคตได้ จึงจำเป็นต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมารองรับเพื่อให้ ชุมชนได้มีบทบาท หน้าที่เท่าเทียมกับรัฐในการจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตน รัฐบาลได้ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงได้กำหนดสาระการศึกษาและการมีส่วนร่วมของประชาชน ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กระทรวงศึกษาธิการ ( 2541 ) มีสาระสำคัญดังนี้ 1. มาตรา 43 ได้กำหนดไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และไม่เก็บค่าใช้จ่าย 2. มาตรา 76 รัฐส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการเมือง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 3. มาตรา 78 กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจกิจการท้องถิ่นได้เอง 4. มาตรา 81 รัฐต้องสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษา อบรมให้เกิดความรู้คู่คุธรรม จัดให้มี "กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ" 5. หมวด 9 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐให้อิสระตามหลักการปกครองตนเอง สามารถจัดการศึกษาได้ตาม มาตรา 289 และอื่น ๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ โดย การเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารแทนตนเอง จากรัฐธรรมนูญในมาตรา 81 จึงทำให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2542 ) ขึ้นซึ่งได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาไว้ดังนี้ 1. มาตรา 8 หลักการจัดการศึกษา มี 3 ประการ คือ 1.1 จัดการศึกษาตลอดชีวิต 1.2 สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 1.3 กระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 2. มาตรา 9 การจัดระบบโครงสร้างกระบวนการจัดการศึกษายึดหลัก การกระจาย อำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ๆ 3. มาตรา 12 ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ๆ มีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย 4. มาตรา 27 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำหลักสูตรแกนกลาง ส่วน สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น 5. มาตรา 29 ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ๆ ร่วมส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน 6. มาตรา 39 กระทรวงกระจายอำนาจบริหารจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ให้คณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ในเขตพื้นที่โดยตรง 7. มาตรา 40 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่ กำกับส่งเสริมสนับสนุน กิจการของสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 6 ฝ่าย จากรายละเอียดใน มาตรา 40 ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จึงได้ลงนามออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย "คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2543 " สมเดช สีแสง ( 2543 : 42 - 43 ) โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. คณะกรรมการในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีจำนวนอย่างน้อย 7 คน ไม่เกิน 15 คน คณะกรรมการประกอบด้วย 6 ฝ่าย ดังนี้ 1.1 ผู้แทนผู้ปกครองไม่เกิน 2 คน 1.2 ผู้แทนครูไม่เกิน 2 คน 1.3 ผู้แทนองค์กรชุมชนไม่เกิน 2 คน 1.4 ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เกิน 2 คน 1.5 ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษาไม่เกิน 2 คน 1.6 ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 4 คน ให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ สัดส่วนและจำนวนกรรมการให้คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องมีสตรีอย่างน้อย 1 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมด กรรมการอยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี กี่วาระก็ได้ 2. หน้าที่ของคณะกรรมการ มี 12 ประการ ดังนี้ 2.1 กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาสถานศึกษา 2.2 เห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา 2.3 เห็นชอบการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น 2.4 กำกับ ติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษา 2.5 ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กในเขตบริการรับการศึกษาทั่วถึงมีคุณภาพและได้ มาตรฐาน 2.6 ส่งเสริมพิทักษ์สิทธิเด็ก ดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส และเด็กเก่ง 2.7 เสนอแนวทางการมีส่วนร่วมบริหารจัดการด้านวิชาการ งบประมาณบริหารงาน บุคคล และบริหารงานทั่วไป ของสถานศึกษา 2.8 ส่งเสริมให้มีการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา วิทยากรภายนอก ภูมิปัญญา ท้องถิ่น สืบสานจารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและชาติ 2.9 เสริมสร้างความสัมพันธ์สถานศึกษากับชุมชนประสานงานกับองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้สถานศึกษามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น 2.10 เห็นชอบรายงานประจำปีของสถานศึกษาก่อนเสนอสาธารณชน 2.11 แต่งตั้งที่ปรึกษา และอนุกรรมการตามสมควร 2.12 ทำงานอื่นตามที่ได้รับมอบจากต้นสังกัดของสถานศึกษา 3. การประชุมคณะกรรมการ อย่างน้อยภาคเรียนละ 2 ครั้ง โดยมีกรรมการที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และให้ผู้แทนนักเรียนร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นได้ จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ. ศ. 2543 ซึ่งเน้นการบริหารที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษา ส่งผลให้การบริหารการศึกษาต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้เสียในการบริหาร ฉนั้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนจึงเป็นงานที่ต้องดำเนินการก่อนและต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อให้การบริหารเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จตามหลักสูตร เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป การบริหารโรงเรียน โรงเรียนนับว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งในสังคม ที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและชุมชนให้เจริญก้าวหน้าอย่างมีคุณภาพและมีคุณธรรมควบคู่กันไปซึ่งส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข แต่การบริหารโรงเรียนนับว่าเป็นงานที่มีความยุ่งยากมากงานหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ได้มีผู้ให้ความหมายไว้มากมายเช่น นพพงษ์ บุญจิตราดุลย์ ( 2527 : 73 ) กล่าวว่าเป็นการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนว่าเป็นภารกิจของผู้บริหารและครูอาจารย์ในโรงเรียนร่วมกันดำเนินการ โดยอาศัยทรัพยากร เทคนิคกระบวนการต่าง ๆ ในอันที่จะเลือกสรรและควบคุมสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเด็กในด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่ความรู้ ความสามารถ บุคลิกภาพ เจตคติ ค่านิยม คุณธรรม ตลอดจนการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีแก่เยาวชน เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม สมดังเจตนารมณ์ของโรงเรียน นงเยาว์ ธาราศรีสุทธิ ( 2529 : 19 ) ได้ให้ความหมายของการบริหารโรงเรียนว่าเป็นกระบวนการต่าง ๆ ในการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ความรับ ผิดชอบของโรงเรียนโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่สมาชิกในสังคม ให้บรรลุ สู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินงานต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามระบบที่สังคมกำหนดไว้ ส่วน ธีรวุฒิ ประทุมนพรัตน์ ( 2529 : 87 ) ให้ความหมายว่าคือ กิจกรรมการบริหารการศึกษาอย่างหนึ่ง ที่ผู้บริหารการศึกษาในโรงเรียนจะกระทำกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาการศึกษาต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนตามความมุ่งหมายของหลักสูตร อันเป็นแนวนโยบายที่รัฐกำหนดไว้ ทั้งนี้มีการใช้ทรัพยากรการบริหาร คือ คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และวิธีการจัดการให้เกิดประโยชน์และเกิดความเหมาะสมมากที่สุด กล่าวโดยสรุปแล้ว การบริหารโรงเรียน หมายถึง กระบวนการในการดำเนินงานต่าง ๆ ของผู้บริหาร ร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ การบริหารโรงเรียนมีความสำคัญมากที่จะส่งผลให้การพัฒนาเยาวชนและประเทศชาติเจริญก้าวหน้าซึ่ง ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ ( 2535 : 22 ) ได้กล่าวว่า การบริหารสถานศึกษา เป็นภารกิจหลักของผู้บริหารที่จะต้องกำหนด แบบแผน วิธีการ และขั้นตอนต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานไว้อย่างมีระบบเพราะถ้าระบบการบริหารงานไม่ดีจะกระทบกระเทือนต่อส่วนอื่น ๆ ของหน่วยงาน นักบริหารที่ดีต้องรู้จักเลือกวิธีการบริหารที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้งานนั้นบรรลุ จุดมุ่งหมายที่วางไว้ การบริหารงานนั้น จะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ทุกประการ เพราะว่าการดำเนินงานต่าง ๆ มิใช่เพียงกิจกรรมที่ผู้บริหารจะกระทำเพียงลำพังคนเดียว แต่ยังมีผู้ช่วยงานแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในด้านสติปัญญา ความสามารถ ความถนัด และความต้องการที่ไม่เหมือนกันจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ที่จะนำเอาเทคนิควิธีและกระบวนการบริหารที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิด ประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายของสถานศึกษา การบริหารสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จต้องมีหลักการในการบริหารงานที่มี ประสิทธิภาพด้วยไม่ใช่บริหารไปตามหลักการทฤษฎีเพียงอย่างเดียว ซึ่งในที่นี้จะได้กล่าวถึงหลักการบริหารสถานศึกษาไว้ 3 ประการ ดังนี้ 1. มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสถานศึกษาที่ชัดเจน ผู้บริหารต้องเข้าใจถึงเป้าหมายของสถานศึกษาว่าเป็นไปในทิศทางใดจึงจะจัดงาน จัดคน จัดเงิน จัดวัสดุอุปกรณ์ได้ เหมาะสม 2. ต้องมุ่งเทคนิควิธีการในการบริหารงาน การบริหารงานทุกประเภทย่อมต้องมีเทคนิค วิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการ งานที่ทำควรมีระบบ มีความรอบคอบ จึงจะทำให้งานดำเนินไปด้วยดี 3. มีการประเมินผล เมื่อได้ดำเนินกิจการใดควรจะได้มีการประเมินผลและติดตามผล เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงงานได้ดีขึ้น การทำงานที่ขาดการประเมินผลจะไม่ช่วยในการพัฒนาสถานศึกษา นอกจากผู้บริหารจะมีหลักการที่ดีแล้วต้องมีเทคนิคในการบริหารงานอีกประการหนึ่งที่จะ ส่งผลให้การบริหารประสบความสำเร็จ ซึ่งจะกล่าวถึงเทคนิคในการบริหารเป็นข้อ ๆ ดังนี้ 1. เทคนิคการบริหารงาน การบริหารงานนั้นผู้บริหารต้องใช้การตัดสินใจอย่างรอบคอบโดยอาศัยข้อมูลและเหตุผล อย่าตัดสินใจด้วยอารมณ์และความคิดเห็นส่วนตัว ควรมีการรับฟังอีกฝ่ายหนึ่งด้วยใจเป็นธรรม 2. เทคนิคการสั่งงาน ต้องสั่งอย่างชัดเจน เข้าใจง่ายถูกต้องตามกาลเทศะ ให้เหมาะสมกับบุคคลเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้ ต้องระมัดระวังการใช้วาจาที่สุภาพมีมารยาทและน้ำเสียง ท่าที วาจาที่เหมาะสม 3. เทคนิคในการรับฟังความคิดเห็น ผู้บริหารควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย สร้าง บรรยากาศให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถแสดงความคิดเห็นได้และควรจะพิจารณาว่าจะนำความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติได้หรือไม่ 4. เทคนิคในการติชม ควรติชมให้เหมาะกับกาลเทศะ และติชมในเรื่องผลงาน การติควรยึดหลักติเพื่อก่อ และชมเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดกำลังใจ ยกย่องชมเชยด้วยความจริงใจ 5. เทคนิคในการก่อให้เกิดระเบียบวินัย ผู้บริหารจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำตนให้มีระเบียบวินัย การวางระเบียบวินัยควรคำนึงถึงความเหมาะสมและสามารถนำไปปฏิบัติได้ และควรจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ รวมทั้งต้องมีมาตรการในการควบคุมการปฏิบัติตามระเบียบวินัย 6. เทคนิคในการวางตน ควรวางตนเป็นตัวอย่างมีความเที่ยงตรง ยุติธรรมไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แจกจ่ายงานให้ทั่วถึง ไม่ควรสนิทสนมกับผู้ใดโดยเฉพาะ ทำตนให้เป็นมิตรและเป็นที่พึ่งให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา 7. เทคนิคการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน เข้าร่วมงานสังคม เป็นประธานในพิธีรวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก 8. เทคนิคในการเพิ่มสมรรถภาพให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีความก้าวหน้าในการทำงาน ทำงานตามความรู้ความสามารถของตน และมีโอกาสที่จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาให้กำลังใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา การบริหารผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารสถานศึกษามากโดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา เพราะสถานศึกษาเป็นระบบย่อยของระบบการศึกษา และระบบสังคมการจัดการศึกษาในสถานศึกษาจึงต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารยังต้องเป็นผู้ชำนาญทางการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ได้แก่ ผู้อำนวยการ อาจารย์ใหญ่ หรือครูใหญ่ รวมทั้งการเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นแล้วแต่ละสถานศึกษา บทบาทสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษานี้ เนเซวิค ( Knezevick 1975:17-18) ได้กำหนดไว้ 17 ประการ ดังนี้ 1. บทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทาง (Direction Setter ) หมายถึง การเป็นผู้กำหนดนโยบาย แนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษาเพื่อเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของสถานศึกษา 2. บทบาทเป็นผู้นำในงานด้านต่าง ๆ ของสถานศึกษา เป็นผู้มีอิทธิพลและจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตามได้ 3. บทบาทเป็นนักวางแผน (Planner ) เป็นผู้วางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ร่วมกับคณะกรรมการของสถานศึกษา 4. บทบาทเป็นผู้ตัดสินใจ ( Decision Maker ) เป็นผู้กำหนดการบริหารงานในสถาน ศึกษา 5. บทบาทเป็นนักจัดองค์การ ( Organizer ) เป็นผู้กำหนดโครงสร้างการบริหารงานใน สถานศึกษา 6. บทบาทเป็นผู้จัดการเปลี่ยนแปลง ( Change Manager ) เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การจูงใจในการเปลี่ยนแปลง 7. บทบาทเป็นผู้ประสานงาน ( Coordinator ) เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสถานศึกษา 8. บทบาทเป็นผู้สื่อสาร (Communicator ) บทบาทเป็นผู้ที่บุคลากรในสถานศึกษาติดต่อและประสานสัมพันธ์กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา 9. บทบาทเป็นผู้แก้ความขัดแย้ง ( Conflict Manager ) เป็นผู้คอยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลและกลุ่มภายในสถานศึกษา 10. บทบาทเป็นผู้แก้ปัญหา ( Problem Manager ) เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสถานศึกษา 11. บทบาทเป็นผู้จัดระบบงาน ( System Manager ) เป็นผู้นำในการจัดระบบงานและการพัฒนาสถานศึกษา 12. บทบาทเป็นผู้บริหารการเรียนการสอน ( Instructional Manager ) เป็นผู้นำทาง ด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนและการบริหารหลักสูตรในสถานศึกษา 13. บทบาทเป็นผู้บริหารบุคคล ( Personnal Manager ) เป็นผู้สรรหาคัดเลือก รักษาและพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษา 14. บทบาทเป็นผู้บริหารทรัพยากร ( Resource Manager ) เป็นผู้นำทรัพยากรทั้งทรัพย์สิน สิ่งของ และบุคลากร มาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูง 15. บทบาทเป็นผู้ประเมินผล ( Appraiser ) เป็นผู้ประเมินผลการทำงานและโครงการ ต่าง ๆ ของสถานศึกษา 16. บทบาทเป็นประธานในพิธี ( Cermonial Head ) เป็นผู้นำทางด้านการจัดงานและพิธีการต่าง ๆ ของหน่วยงานทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา 17. บทบาทเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ( Public Relator ) เป็นผู้นำในการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก การประชาสัมพันธ์การติดต่อประสานงานรวมทั้งการให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานอื่น ๆ ในการบริหารโรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2540 : 29-30 ) ได้กำหนดให้โรงเรียนประถมศึกษาปฏิบัติงานในบทบาท ดังนี้ 1. งานวิชาการ ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตร การจัดหาวัสดุสื่อการเรียนการสอน สนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู การวัดผลประเมินผลและการประกันคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน 2. งานบุคลากร ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการด้านบุคลากรของโรงเรียน ได้แก่ ครู อาจารย์ คนงานภารโรง ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากร การบำรุงรักษา และจัดสวัสดิการให้บุคลากรอยู่ได้อย่างมีความสุข ตลอดจนการลงโทษหรือดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลที่มีความผิดหรือปฏิบัติหน้าที่ด้อยประสิทธิภาพ 3. งานกิจการนักเรียน ดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนการสอน หรือเกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น การรับนักเรียนเข้าใหม่ การให้บริการด้านต่าง ๆ แก่นักเรียน ตลอดจนการจำหน่ายนักเรียนออกจากโรงเรียน และการติดตามดูความสำเร็จของนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนไปแล้ว 4. งานธุรการ การเงินและพัสดุ ดำเนินการเกี่ยวกับงานสารบรรณ งานธุรการ งานการเงินของโรงเรียนทุกประเภท และการดำเนินงานเกี่ยวกับพัสดุของโรงเรียนให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ 5. งานอาคารสถานที่ ดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้ การบำรุงรักษา ตกแต่ง อาคารเรียน อาคารประกอบ ที่ดินและสิ่งก่อสร้างของโรงเรียน โดยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าและมีสภาพร่มรื่น สะอาด สวยงามอยู่เสมอ 6. งานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ซึ่งหมายถึง ผู้ปกครอง นักเรียน วัด องค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะกรรมการ โรงเรียน โดยให้ชุมชนหรือบุคคลในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ช่วยพัฒนาโรงเรียน และโรงเรียนได้ให้บริการแก่ชุมชน เป็นต้น ในที่นี้ผู้วิจัยมุ่งศึกษาเฉพาะงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งจะได้กล่าวถึงงานด้านนี้ในรายละเอียดต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน 1. ความหมายของงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนได้มีผู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดวิเคราะห์ของแต่ละบุคคล ซึ่งในที่นี้จะได้นำความหมายของบุคคลต่าง ๆ มากล่าวไว้ ดังต่อไปนี้ สุพิชญา ธีระกุล ( 2522 : 48 ) ได้ให้ความหมายไว้ว่าคือ การบริหารโรงเรียนในส่วนที่ เกี่ยวกับชุมชน ได้แก่การติดต่อสัมพันธ์กับชุมชน การร่วมกันกำหนดความมุ่งหมายและนโยบายของโรงเรียน ตลอดจนการร่วมมือพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนเพื่อชุมชน ส่วน กิติมา ปรีดีดิลก ( 2532 : 237 ) ได้ให้ความหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง โรงเรียนกับชุมชนไว้ว่า คือ กระบวนการในการวางแผน การควบคุม การประสานงานการจัดบุคลากร และเผยแพร่ความรู้ต่อชุมชนเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้าไปพร้อมกัน และ มนัส สุวรรณชาตรี ( 2541 :14 ) ได้ให้ความหมายไว้ว่าคือ กิจกรรมของโรงเรียนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนเพื่อให้การสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ แก่โรงเรียนและชุมชน สำหรับ แฮร์รีส ( Harris,1975 :13 ) ได้ให้ความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนว่า คือ การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แจ้งข่าวคราวการเคลื่อนไหวทางการศึกษาให้ชุมชนทราบเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือจากชุมชน ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โดยสรุปแล้วงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน หมายถึง กระบวนการในการบริหารโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียนและให้ความสนับสนุนโรงเรียนในด้านต่าง ๆ ที่มีความสามารถจะช่วยเหลือได้ อีกทั้งมีความรู้สึกที่ดีต่อโรงเรียนและการบริหารงานต่าง ๆ ของโรงเรียน 2. ความสำคัญของงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การศึกษาของเด็กนักเรียนมิได้จำกัดอยู่แต่ภายในกำแพงโรงเรียน แต่เด็กได้เรียนรู้อะไร บางอย่างอยู่ตลอดเวลาทั้งขณะที่อยู่บ้านและในที่ต่าง ๆ ในชุมชนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ โรงเรียนที่จะต้องออกไปเกี่ยวข้องกับชุมชน และเชื้อเชิญชุมชนเข้ามาสู่โรงเรียนด้วยเหตุผลสำคัญ ดังที่ สุพิชญา ธีระกุล ( 2522 : 49 - 50 ) ได้กล่าวว่าโดยหลักการแล้วโรงเรียนและชุมชนจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเพราะโรงเรียนเป็นสถาบันพัฒนาคน เพื่อให้ไปดำรงชีวิตในชุมชน ถ้าเปรียบกับกิจการทางอุตสาหกรรม โรงเรียนก็เป็นโรงงานสำหรับผลิตสิ่งของสำหรับชุมชนนั่นเอง โรงงานกับชุมชนจะต้องใกล้ชิดกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อความเหมาะสมทางการผลิต ( Production ) และการบริโภค ( Consumption ) ความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน อาจแยกกล่าวเป็นเรื่อง ๆ ได้ดังนี้ 1. เพราะโรงเรียนเป็นแหล่งเลือกสรรคนให้ชุมชน ( School as a Sorting and Selecting Agency ) เนื่องจากโรงเรียนตั้งขึ้นตามความต้องการของชุมชน โรงเรียนจึงมีหน้าที่รับพัฒนาคน จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร หรือมีความรู้ความสามารถพอควร โรงเรียนจึงปล่อยให้คนเหล่านั้นออกไปสู่ชุมชน ทั้งที่เป็นชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ และชุมชนที่ห่างไกลออกไป 2. เพราะโรงเรียนเป็นแหล่งพัฒนาคนให้ชุมชน ( School as a Socializing Agency ) ในกระบวนการสังคมประกิต ( Socialization Process ) โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคม ที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคนได้มากรองจากครอบครัว จากการที่เด็กอยู่ในโรงเรียนเป็นเวลานาน และโรงเรียนจัดสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าให้ทุกวัน โรงเรียนจึงสามารถเปลี่ยนแปลงและหล่อหลอม พฤติกรรมของเด็กให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนได้มาก 3. เพราะโรงเรียนเป็นแหล่งรวมศาสตร์สาขาต่าง ๆ (Collecting of Disciplines ) โรงเรียนเตรียมพร้อมที่จะจัดสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าให้แก่นักเรียนที่จะไปเป็นสมาชิกของชุมชน จึง จำเป็นที่โรงเรียนจะต้องรวมครูที่มีความรู้ความสามารถในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ไว้ หากโรงเรียนเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง โรงเรียนจะมีบุคคลที่มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะอำนวยประโยชน์แก่ ชุมชน 4. เพราะโรงเรียนเป็นแหล่งถ่ายทอดวัฒนธรรม ( School as a Culture Transmission Agency ) วัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชุมชน ทั้งชุมชนและโรงเรียนมีหน้าที่ฟื้นฟูแก่เยาวชนของชุมชน เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นเข้าใจความเป็นมาของวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ 5. เพราะโรงเรียนเป็นศูนย์รวมของชุมชน ( School as a Community Center ) โรงเรียนนับเป็นสมบัติของส่วนร่วมในชุมชนมีอาคารและบริเวณพอจะเป็นที่ประชุมหรือประกอบพิธีต่าง ๆ ได้ เช่น สัมมนา จัดงานประจำปี ตั้งค่ายลูกเสือชาวบ้าน จัดพิธีแต่งงาน ประกวดพืชผล บางชุมชนใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ประกอบการเกี่ยวกับศาสนาด้วย เช่น ทำขวัญนาค ตั้งองค์กฐิน เป็นต้น นับว่าโรงเรียนเป็นศูนย์รวมของชุมชนและให้ประโยชน์แก่ชุมชนอย่างคุ้มค่า 6. เพราะโรงเรียนและชุมชนมีจุดหมายเดียวกัน เป็นทั้งจุดหมายที่กำหนดอย่างเป็นทางการและกำหนดอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งโดยวัฒนธรรมประเพณี และโดยสามัญสำนึก ให้โรงเรียน และชุมชนมีจุดหมายของการปฏิบัติงานตรงกัน คือ พัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ( Perfect Man ) และสามารถจัดชุมชน และดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างปกติสุข ความจริงที่ปรากฎอยู่ในจิตใจของประชาชนในชุมชนก็คือ ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ โรงเรียน และปราถนาที่จะให้โรงเรียนมีความคล่องตัว และปฏิบัติงานทุกชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนมักให้ความร่วมมือกับโรงเรียนด้วยดี ทุกประการตลอดมา เพราะมีสำนึกอยู่ว่า โรงเรียนปฏิบัติงานตรงกับที่ชุมชนต้องการ ส่วน กิติมา ปรีดีดิลก ( 2532 : 238 ) และ พนิจดา วีระชาติ ( 2542 : 49 - 50 ) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้สอดคล้องกัน ดังนี้ 1. การศึกษาในโรงเรียนสัมพันธ์กับบุคคลในชุมชน เพราะโรงเรียนให้การศึกษาแก่ นักเรียน ซึ่งมาจากชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ นักเรียนนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน นักเรียนต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองของนักเรียนเองด้วย บุคคลในชุมชนก็จะดำรงชีวิตตามนักเรียนไปด้วยจึงถือได้ว่าโรงเรียนให้การศึกษาโดยทางอ้อมแก่ชุมชนนั่นเอง 2. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือให้ประชาชนยอมรับว่าสถานศึกษาหรือโรงเรียนเป็นสถาบันสำคัญของชุมชน เป็นสิ่งมีค่าของทุกคน ช่วยทำให้การเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนดีขึ้น ดังนั้นประชาชนในชุมชนย่อมมีความรู้สึกร่วมกันในการเป็นเจ้าของโรงเรียนยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือโรงเรียน อาจจะเป็นเงินวัสดุสิ่งของ แรงงาน และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโรงเรียน 3. ทำให้ครูกับผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนในชุมชนมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะโรงเรียนกับชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ถ้าโรงเรียนกับชุมชนไม่มีความสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น โรงเรียนและครูถูกกล่าวหาบ้าง ถูกตำหนิบ้าง เป็นต้น 4. เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เป็นปัญหาต่อการศึกษา ในชุมชนแต่ละแห่งมักจะมีผู้ที่มีปัญหาไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของโรงเรียน ไม่ให้ความร่วมมือทางโรงเรียน ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้น 5. เพื่อปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอนตามความต้องการของชุมชน เพราะการเรียนการสอนของโรงเรียนต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชุมชน ต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากชุมชน จะต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของชุมชน จะต้องให้ผู้เรียนนำสิ่งที่ได้รับจากการเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และนำไปเผยแพร่แก่ชุมชนได้ และนอกจากโรงเรียนให้การศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลแล้ว ยังมุ่งพัฒนาชุมชนไปด้วยดังนั้น หลักสูตรและการเรียนการสอนของโรงเรียนจะต้องได้รับการปรับปรุงตามความต้องการของชุมชนด้วย 6. เพื่อใช้ทรัพยากรของชุมชนให้เป็นประโยชน์ เพราะในชุมชนมีทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ บุคคล สถาบัน และวัฒนธรรมพื้นบ้านมากมายด้วยกัน ทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในโรงเรียนได้ 7. ทำให้โรงเรียนมีความรู้ความเข้าใจชุมชนดี ทั้งในด้านปัญหาของชุมชน ความต้องการของชุมชน ทรัพยากรในชุมชน เพื่อโรงเรียนจะได้ช่วยแก้ปัญหาของชุมชน และปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับชุมชน โรงเรียนนับว่าเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญมากในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่มีการแข่งขันกันสูงมาก หากโรงเรียนมีการบริหารงานที่ดีประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ประชาชนใน ชุมชนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่เอาเปรียบผู้อื่น งานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เป็นงานที่ส่งเสริมให้มีการให้ความสำคัญกับการศึกษาและ โรงเรียนเนื่องจากโรงเรียนเป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อชุมชนเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นด้านการให้ความรู้แก่นักเรียนและชุมชน หรือช่วยแก้ปัญหาของชุมชน ความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นส่งผลให้ครูและชุมชนมีความรู้สึกที่ดีต่อกันทำให้ครูมีขวัญกำลังใจในการทำงาน อีกทั้งชุมชนก็ให้การสนับสนุนโรงเรียนในทุก ๆ ด้านเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้การจัดการศึกษาประสบความสำเร็จ 3. วัตถุประสงค์ของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การบริหารโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา การสร้างความ สัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลให้กิจการของโรงเรียนบรรลุตามจุดมุ่งหมาย การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมีวัตถุประสงค์หลายประการด้วยกันดังที่ สุพิชญา ธีระกุล (2522 : 51-52 ) ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ ( 2530 : 77 ) พนิจดา วีระชาติ ( 2542 : 51 ) กล่าวไว้สอดคล้องกันสรุปได้ดังนี้ 1. เพื่อสร้างเสริมสัมพันธภาพระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพราะสัมพันธภาพจะเป็น เครื่องมือเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชนให้มาร่วมมือกันปฏิบัติการต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้บรรลุ จุดหมายอันเดียวกันตามที่กำหนดไว้ 2. เพื่อสร้างเสริมความรู้สึกเป็นเจ้าของให้แก่ชุมชน เนื่องจากโรงเรียนเป็นสาธารณ สมบัติที่ชุมชนเป็นเจ้าของอยู่แล้ว หากแต่มอบหมายให้คณะครูเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งมี ผู้บริหารโรงเรียนเป็นหัวหน้า 3. เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการของโรงเรียน กิจการต่าง ๆ ของโรงเรียน อาจแบ่งเป็นหลายประเภท เช่น การกำหนดความมุ่งหมาย และนโยบาย กิจการเกี่ยวกับการบริหาร โรงเรียนกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอาคารสถานที่ ตลอดจนการพัฒนาด้านวิชาการ เช่น หลักสูตรเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ในอันที่จะพัฒนาบุตรหลานของเขา 4. เพื่อฟื้นฟู และรักษาวัฒนธรรมของชุมชน ในชุมชนมีวัฒนธรรมประจำอยู่มากมายทั้งที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนา วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ความดีของชุมชน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ และเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ชุมชนจะรักษาและหวงแหนอย่างยิ่ง หากโรงเรียนทำการฟื้นฟูและถ่ายทอดให้แก่เยาวชน ชุมชนจะให้ความร่วมมือทุกประการ เพราะชุมชนมองเห็นว่าโรงเรียนกระทำการเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง 5. เพื่อสร้างความกลมกลืนระหว่างบ้านกับโรงเรียน เป็นที่ยอมรับว่าโรงเรียนเป็น หน่วยงานของชุมชน ดำเนินงานพัฒนาคนสำหรับชุมชน โรงเรียนกับชุมชนจึงมีการปฏิบัติไปใน ทิศทางเดียวกันในทุกกรณี การดำรงชีพในชุมชนควรจะเป็นหลักสูตรของโรงเรียน ปฏิบัติการต่าง ๆ ควรเป็นของชุมชน โรงเรียนเป็นเพียงสถานที่ฝึกหัดให้เท่านั้น ส่วน ยนต์ ชุ่มจิต ( 2528 :131 ) กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน มีดังนี้ 1. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชนซึ่งจะเป็นแนวทางให้ประชาชนมีความสนใจและให้ความร่วมมือช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของโรงเรียนทั้งทางวิชาการและอื่น ๆ 2. เพื่อให้โรงเรียนมีส่วนในการให้บริการแก่ชุมชน เช่น บริการวัสดุ อุปกรณ์อาคาร สถานที่ 3. เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนแก่ชุมชน หากประชาชนมีความรู้สึก เป็นเจ้าของโรงเรียนจะช่วยให้โรงเรียนมีความปลอดภัยในทรัพย์สิน และของมีค่ายิ่งขึ้น และยังจะได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ อีกมากมาย 4. เพื่อให้ทราบภูมิหลังที่แท้จริงของนักเรียนจากผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการ ส่งเสริมปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพื้นฐาน และความต้องการของนักเรียน 5. เพื่อให้โรงเรียนสามารถใช้แหล่งทรัพยากรจากชุมชนได้อย่างสะดวกและมี ประสิทธิภาพ 6. เพื่อส่งเสริม ฟื้นฟู และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนโดยผ่านทางนักเรียน ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของโรงเรียนมากยิ่งขึ้น 7. เพื่อส่งเสริมการผสานกลมกลืนระหว่างโรงเรียนกับชุมชนให้เป็นไปในทิศทางทาง เดียวกัน 8. เพื่อส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นของประชาชนโดย ประชาชน และเพื่อประชาชน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2528 : 23-24 ) ได้เสนอวัตถุประสงค์ของงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ไว้ดังนี้ 1. เพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจอันดีต่อโรงเรียน อันจะช่วยให้โรงเรียนได้รับความร่วมมือและความสะดวกในการดำเนินงาน 2. เพื่อให้โรงเรียนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชน คือ บุคคล วัสดุ และ สิ่งแวดล้อม เพื่อการดำเนินงานของโรงเรียนได้ 3. เพื่อให้โรงเรียนได้รับความสนับสนุนและช่วยเหลือจากชุมชน ทั้งด้านการเงิน แรงงาน วัสดุอุปกรณ์ และความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานของ โรงเรียน 4. เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือชุมชนทางด้านวิชาการและอื่น ๆ อันจะเป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมอีกทางหนึ่ง 5. เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานหลักของโรงเรียน คือ งานวิชาการบรรลุเป้าหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น 6. เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานอันจะทำให้บุคลากรมีขวัญและ กำลังใจในการปฏิบัติงาน 7. เพื่อป้องกันหรือแก้ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของโรงเรียนที่อาจเกิดขึ้น โดย เป็นผลกระทบจากชุมชน กล่าวโดยสรุป วัตถุประสงค์ของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ชุมชนเป็นกำลังที่สำคัญในการติดตามดูแลนักเรียน เพื่อป้องกันหรือแก้ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของโรงเรียนที่อาจเกิดจากชุมชน 4. หลักการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนต้องมีหลักการและทฤษฎีที่ยึดถือ เช่นเดียวกับงาน อื่น ๆ มิใช่ผู้บริหารคิดจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้หลักการไว้ดังได้กล่าวถึงต่อไป ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ ( 2530 : 78 -79 ) และ นพพงษ์ บุญจิตราดุลย์ ( 2534 : 27 ) ได้ให้หลักการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้สอดคล้องกันดังนี้ 1. ต้องดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจ ( Integrity ) ตรงไปตรงมาเชื่อถือได้ไม่มีอะไร ซ่อนเร้นซึ่งโดยปกติประชาชนให้ความเชื่อถือต่อระบบโรงเรียนอยู่มากพอสมควร แต่หากทำอะไร ที่ไม่ดีประชาชนก็หมดศรัทธา 2. ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (Continuity) ถือเป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนไม่สามารถสร้างได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือเพียงวันสองวัน 3. ต้องดำเนินการให้ครอบคลุม (Coverity) ทุกด้านที่ชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ควรมองเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ควรที่จะให้ประชาชนได้เข้าใจทุก ๆ ด้านของโรงเรียน ลักษณะความสัมพันธ์ก็ควรเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น 4. ต้องมีความง่าย (Simplicity) และคล่องตัวในการดำเนินงาน ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ควรจะเป็นความเข้าใจง่าย ธรรมดา ไม่ซับซ้อนจนเกินไปทำให้ ประชาชนเข้าใจยาก 5. ต้องเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ ( Constructiveness) มิใช่ทำลายภาพพจน์ของ โรงเรียนและชุมชน แต่เป็นไปด้วยการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน 6. ต้องดำเนินการปรับตัว ( Adaptability ) ให้เข้ากับสภาพของชุมชน สอดคล้องกับ โอกาสอันควร และสภาพปัญหาโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ความ เข้าใจ ความคิดเห็นของประชาชน เพราะความคิดเห็นไม่เหมือนกัน 6. ต้องดำเนินการด้วยความยืดหยุ่น ( Flexibility ) ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับ ชุมชนก็ต้องอาศัยความยืดหยุ่นของเวลา ไม่จำกัดระยะเวลา และสอดคล้องกับสภาพของชุมชน ส่วน กิติมา ปรีดีดิลก ( 2532 : 244 ) ได้ให้หลักการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้ดังนี้ 1. ยึดหลักมนุษยธรรม การติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนนั้น ต้องอาศัยหลักมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก บุคลากรในโรงเรียนจึงต้องเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี 2. ยึดหลักความจริงใจหรือบริสุทธิ์ใจ ข้อความใด ๆ ที่จะเผยแพร่สู่ประชาชนย่อมจะมี ความเชื่อถือได้ ตรงไปตรงมามากที่สุด และไม่ควรมีอะไรปิดบังภายในโรงเรียน 3. ยึดหลักความซื่อสัตย์ บุคลากรในโรงเรียนควรมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และกาทำงาน 4. มีความสม่ำเสมอในการทำงานและการติดต่อสัมพันธ์กับคนและชุมชน 5. ยึดความเสียสละในการทำงานเพื่อชุมชน 6. ยึดความอดทน จะต้องมีความอดทนเป็นอย่างมากในการดำเนินงานของโรงเรียนและการติดต่อกับชุมชน 7. ยึดความยืดหยุ่น ควรเป็นลักษณะการโอนอ่อนผ่อนตามการดำเนินการควรมีการ ยืดหยุ่นตามสถานการณ์และเวลา 8. ยึดความต่อเนื่อง การจะสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนนั้นย่อมต้องอาศัยเวลาในการ ดำเนินงานที่ต่อเนื่องกัน และจำเป็นต้องมีตลอดไป 9. ยึดการครอบคลุมเนื้อหา การสร้างความสัมพันธ์จะต้องครอบคลุมลักษณะงานและ ขอบข่ายของโรงเรียน ในทุก ๆ ด้านอย่างเพียงพอมิใช่มุ่งในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ 10. ยึดความเรียบง่าย การนำเสนอของชุมชนไม่ว่าจะเป็นด้านใดควรคำนึงถึงความ เรียบง่ายสื่อสัมพันธ์กันเข้าใจ 11. ยึดการสร้างสรรค์ เป็นหลักการที่โรงเรียนต้องมุ่งที่จะกระทำเพื่อให้เกิดความ สัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน 12. ความสามารถในการปรับตัว การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่นในแต่ละโอกาส และแต่ละสภาพปัญหา อุทัย ดุลยเกษม และ อรศรี งามวิทยาพงศ์ ( 2540 : 95 - 96 ) ได้ให้หลักการในการ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้ดังต่อไปนี้ 1. ต้องริเริ่มจากโรงเรียนก่อน โดยเฉพาะจากครูใหญ่หรือผู้บริหารการศึกษาเนื่องจาก การริเริ่มจากฝ่าย โรงเรียนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในโครงสร้างจากแนวดิ่งมาเป็นแนวราบโดยอัตโนมัติในขณะที่การริเริ่มจากฝ่ายชุมชนนั้น จะพบอุปสรรคในการเข้าสร้างความสัมพันธ์กับโรงเรียนเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนในปัจจุบันนั้นโรงเรียนยังเป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษา และมีการบริหารแบบแนวดิ่ง ที่ไม่เปิดโอกาสอย่างแท้จริง ให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค การจะริเริ่มจากฝ่ายชุมชน จึงเป็นไปได้ยาก และมีอุปสรรคมากกว่าโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ชุมชนส่วนมากอ่อนแอเช่นปัจจุบัน 2. การแสวงหาครู กลุ่มครูที่มีทัศนคติวิสัยทัศน์ และความสนใจการพัฒนาชุมชน แล้ว ส่งเสริมให้บุคคล ดังกล่าวมีโอกาสเรียนรู้ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ประสบการณ์ เนื่องจากกรณี ตัวอย่าง พบว่าความร่วมมือเกิดขึ้น หากมี ครู ครูใหญ่ มีความตั้งใจจริงมีความสามารถ ทักษะที่จะเข้าสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และแสวงหาช่องทางของกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการทำงาน รวมทั้งการแสวงหาพันธมิตรหรือเครือข่าย จากนอกชุมชนเข้ามาสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือนั้น โดยไม่ต้องรอให้เกิดนโยบายจากรัฐหรือการปฏิรูปอย่างเป็นทางการในระบบเสียก่อน อย่างที่มักเข้าใจกัน 3. กระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านและชุมชนนั้น มักเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการปฏิบัติ บทบาท ของครูหรือบุคคลภายนอก คือการสังเคราะห์ความคิดอย่างเป็นระบบจากกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นแล้วแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจร่วมกัน มิใช่การสรุปหรือชี้นำ จากบุคคลหรือฝ่ายใดฝ่ายเดียวเพราะวิธีการดังกล่าว จะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันได้ คือการพึ่งพิงความคิด การมอบการตัดสินใจและความรับผิดชอบให้แก่บุคคลดังกล่าว มากกว่าการร่วมคิด ร่วมรับผิดชอบ และตัดสินใจร่วมกันของคนส่วนใหญ่ 4. ความร่วมมือเกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายมองเป็นปัญหา หรือถูกคุกคามด้วยปัญหา และต้องการหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น การกระตุ้นให้เกิดการขบคิดวิเคราะห์ปัญหาและมองเห็นทางแก้ไขที่มีอยู่ ( เช่น การดูงานทัศนศึกษากิจกรรมของผู้อื่น ๆ ฯลฯ ) มักจะมีผลให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อันเป็นปัญหาสำคัญของชุมชนอย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจจะต้องเกิดขึ้นในวิสัยทัศน์แบบองค์รวม มองเห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มิใช่เพียงปัจจัยเศรษฐกิจเพียงประการเดียวเท่านั้น สำหรับ พนิจดา วีระชาติ ( 2542 : 54 ) ได้กล่าวถึงหลักการที่โรงเรียนใช้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้ดังนี้ 1. การทำโรงเรียนให้เป็นศูนย์สนใจของประชาชน และปรับปรุงโรงเรียนให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ 2. การผูกมิตรสัมพันธ์กับชาวบ้าน และรักษาบรรยากาศอันดีระหว่างชาวบ้านกับ โรงเรียน 3. ศึกษาความรู้เรื่องชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ เพื่อที่จะหาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาสอน นักเรียนซึ่งจะทำให้นักเรียนใกล้ชิดกับโรงเรียนมากยิ่งขึ้น 4. การรับใช้ชุมชนด้วยวิธีการดังนี้ 4.1 ทำโรงเรียนให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน 4.2 ชักชวนชาวบ้านเข้าหาโรงเรียน 4.3 เปิดโอกาสให้ชาวบ้านใช้โรงเรียน 4.4 จัดการศึกษาผู้ใหญ่ 4.5 จัดสนทนาการต่าง ๆ ร่วมกับชาวบ้าน 5. จัดตั้งสมาคมครู และผู้ปกครองเพื่อร่วมกันบริหารโรงเรียนให้เจริญ 6. พยายามเผยแพร่กิจกรรมของโรงเรียนให้ประชาชนได้ทราบด้วยวิธีการต่าง ๆ 7. จัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่า เพื่อให้นักเรียนเก่าไม่ลืมโรงเรียน และทำประโยชน์ แก่โรงเรียน หลักการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนนั้น เป็นแต่เพียงทฤษฎีเท่านั้นหากมิได้นำไปปฏิบัติก็มิได้บังเกิดผลอันใด ถึงแม้มีการปฏิบัติแล้วในบางครั้งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน อันมีสาเหตุมาจากความเชื่อถือของตัวครูยังไม่ดี หรือระยะเวลาสั้นจนเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงานหรือการทำงานซับซ้อนมากจนเกินไปประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ ก็อาจเป็นสาเหตุที่จะส่งผลให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทั้งนี้แหละทั้งนั้นการบริหารงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนต้องยึดหลักการที่ค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ 5. วิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนนั้นมีวิธีการต่าง ๆ มากมายแล้วแต่บุคคลว่าจะเลือกวิธีการใดในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนแต่ทั้งนี้ต้องยึดหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกันในด้านความคิด ความรู้สึก ฉนั้นวิธีการหนึ่งอาจใช้ได้กับสังคมหนึ่งแค่นั้นไม่สามารถจะเลียนแบบกันได้ เนื่องจากความแตกต่างของประชาชน ครู และสังคม ผู้บริหารจะดำเนินการตามวิธีใดต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบด้านก่อนเพื่อความไม่ผิดพลาดดังเช่น สุรพันธ์ ยันต์ทอง ( 2526 : 318 -319 ) ได้เสนอวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง โรงเรียนกับชุมชนไว้ดังนี้ 1. การนำโรงเรียนออกสู่ชุมชน โรงเรียนควรจะได้ปฏิบัติดังนี้ 1.1 เสนอรายงานให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน 1.2 สร้างความเชื่อถือและความมั่นใจ ตลอดจนความนิยมในโรงเรียนให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน 1.3 ส่งเสริมประชาชนให้มีความเข้าใจในความสำคัญของการศึกษา และให้ ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนจะต้องให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน 1.4 ส่งเสริมให้ครูกับผู้ปกครองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเป็นผลดี ต่อการเรียนการสอน 1.5 สนับสนุนให้ประชาชนเข้ามาช่วยเหลือกิจการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของ โรงเรียนทั้งในด้านการเงิน วัสดุ แรงงาน และกำลังใจ 1.6 สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างบ้าน โรงเรียนและชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์ประชาชน ศูนย์การศึกษา และศูนย์วัฒนธรรม 1.7 ประเมินความต้องการของผู้ปกครองและประชาชนในท้องถิ่นเกี่ยวกับการ ศึกษา เพื่อให้โรงเรียนมีโอกาสสนองความต้องการอันแท้จริงของประชาชน 1.8 แก้ไขปัดเป่าคลี่คลายข้อข้องใจ และสิ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ๆ ช่วยให้ ประชาชนมองโรงเรียนในแง่ดี มีความเข้าใจและเห็นใจโรงเรียนมองครูและนักเรียนด้วยความเชื่อถือและนิยมยกย่อง 2. การนำชุมชนมาสู่โรงเรียน โรงเรียนควรจะได้ปฏิบัติดังนี้ 2.1 เชิญผู้เชี่ยวชาญในอาชีพเฉพาะอย่างมาให้ความรู้และแนะนำ เช่น ช่างไฟฟ้า อาจเชิญมาให้ความรู้เรื่องประโยชน์และอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้า 2.2 ผู้ปกครองเด็ก อาจให้ความช่วยเหลือในการเป็นวิทยากรในบางเรื่อง เช่น สมาชิกสภา อาจให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประชุมสภาร่างกฎหมาย หรืออื่น ๆ 2.3 โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานการผลิต 2.4 ตำรวจ ข้าราชการ ให้ความรู้ด้านการจราจร การปกครองและอื่น ๆ 2.5 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือท้องถิ่น อาจให้ความรู้เกี่ยวกับการ ดำเนินงานในท้องถิ่น 2.6 ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พืช สัตว์ป่า ดินหิน แม่น้ำ แร่ อาจนำมาใช้ในการเรียนการสอน 2.7 ทรัพยากรที่มนุษย์ประดิษฐ์ตกแต่ง เช่น บ้านเรือน อาคาร สนาม สถานีดับเพลิง อาจใช้ในการเรียนการสอนได้ 2.8 แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทันตแพทย์ เพื่อมาให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย 2.9 จัดงานประจำปี แล้วเชิญผู้ปกครองและประชาชนมาร่วมงาน 2.10 จัดนิทรรศการแสดงผลงานของโรงเรียน หรือทำพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่ 2.11 จัดการแสดงละครหรือแข่งขันกีฬา 2.12 จัดตั้งสมาคมผู้ปกครองและครู 2.13 จัดตั้งคณะกรรมการประชาชน เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของโรงเรียน 2.14 จัดตั้งสมาคมศิษย์เก่า สมาคมเกี่ยวกับการศึกษา สมาคมเกี่ยวกับครูและสมาคม เกี่ยวกับกิจกรรมหย่อนใจต่าง ๆ สำหรับประชาชน 2.15 จัดตั้งสมาคมต่าง ๆ ของชุมชนขึ้นตามความเหมาะสม โดยใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งของสมาคม 2.16 จัดโปรแกรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ทั้งในด้านการศึกษา อาชีพ และการหย่อนใจ โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมรับประโยชน์โดยตรงบ้างตามสมควร 2.17 เชิญประชาชนที่มีความสนใจในการศึกษามาเป็นกรรมการศึกษา กรรมการ โรงเรียนชุมชน กรรมการโครงการสุขภาพของโรงเรียน เป็นต้น สำหรับ ทวี ทิมขำ ( 2527 : 325 -327 ) ได้กล่าวถึงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในโรงเรียน ไว้ดังนี้ 1. เปิดโอกาสให้ชุมชนหรือผู้ปกครอง ได้มาเยี่ยมโรงเรียนบ้างตามสมควร โดยจัด โครงการให้ผู้ปกครองได้เห็นการเรียนการสอนของครู การทำงานของโรงเรียน การฝึกงานของ นักเรียน ตลอดจนการเล่นและชีวิตภายในโรงเรียนของบุตรหลานของเขา 2. เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นในการบริหารโรงเรียน ผูบริหารและครูควรระลึกเสมอว่า การปฏิบัติการเพื่อความเข้าอกเข้าใจกัน ระหว่างบ้านกับโรงเรียน เป็นหนทางที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน 3. ควรปรับปรุงโรงเรียนให้เป็นแหล่งบริการชุมชนทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมโดยร่วมมือกับองค์การ มูลนิธิ หรือเอกชน ในการจัดบริการในด้านสวัสดิการแก่ประชาชน เช่น ในด้านห้องสมุด บ่อน้ำสาธารณะ การอนามัย ศูนย์พักผ่อนหย่อนใจ หรือการสาธิตเกี่ยวกับอาชีพ ฯลฯ ภายในโรงเรียนและในขณะเดียวกันโรงเรียนก็ควรพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาวิชาในหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนนั้นด้วย 4. ควรให้โรงเรียนเป็นแหล่งส่งเสริมประชาธิปไตย ในการดำเนินงานใด ๆ ของ โรงเรียน ควรให้ประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด และในการลงมติต่าง ๆ จะต้องถือความเห็นส่วนมากเป็นหลัก นอกจากนั้นทางโรงเรียนอาจจะจัดให้มีการประชุมพบปะสังสันทน์กันระหว่างครูผู้ปกครอง ในโอกาสอันควร ในการนี้อาจจะจัดให้มีการอภิปรายการโต้วาทีหรือการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อันจะนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงโรงเรียนและชุมชนให้ดีขึ้น 5. ควรส่งเสริมชุมชนให้ตอบสนองความต้องการของโรงเรียน ครู และผู้บริหาร โดยที่การเรียนการสอนภายในโรงเรียน ส่วนมากจะเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนนั้น การปลูกฝังเด็กให้เป็นพลเมืองดี จะต้องกระทำทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน โดยเฉพาะผู้ปกครองจะต้องให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการอบรมเด็กอย่างจริงจังด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของครูและผู้บริหาร ที่จะต้องกระตุ้นให้ผู้ปกครองตอบสนอง โดยการทำความเข้าใจ ไปเยี่ยมเยียนเด็กและผู้ปกครองเป็นประจำ แล้วร่วมมือกันแก้ไขข้อบกพร่องในตัวของเด็กเป็นรายบุคคล 6. ควรทราบเกี่ยวกับเรื่องของชุมชน ที่ตั้งโรงเรียนเป็นอย่างดี โดยการสำรวจว่าใน ชุมชนนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร มีทรัพยากรอะไรบ้าง และมีปัญหาอะไร ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการวางแผนเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน และจัดโปรแกรมการเรียนการสอน ให้สนองความต้องการของชุมชนได้ถูกต้อง 7. ควรทราบถึงความสำคัญในการจัดระบบหรือรูปร่างของชุมชน เช่น ความนิยม ศาสนา ลัทธิประเพณี การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ สมาคม ฯลฯ เพื่อเป็นทางที่จะเข้าไปสู่ชุมชนและนำชุมชนเข้ามาสนใจโรงเรียน 8. ควรให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของโรงเรียนชุมชนโดยหาวิธีการต่าง ๆ ในการเผยแพร่ ข่าวสาร และให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น ออกหนังสือพิมพ์ เผยแพร่กิจการของโรงเรียนทางวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น นอกจากนั้นทางโรงเรียนอาจจัดการแสดงกิจกรรมของนักเรียน และเชิญผู้ ปกครองมาร่วมด้วย 9. ควรจัดและส่งเสริมงานที่ทำให้โรงเรียนและชุมชน เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่นกิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด สมาคมครูผู้ปกครอง ความสำเร็จของโรงเรียนชุมชนก็คือ การให้ ประชาชนได้มีส่วนปรับปรุงและเป็นเจ้าของโรงเรียนและพยายามทำให้ประชาชนในชุมชนมีความ รู้สึกว่า เขามีความรับผิดชอบอยู่ด้วย 10. ควรเยี่ยมบ้านผู้ปกครอง การเยี่ยมบ้านนักเรียนและผู้ปกครอง ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในการให้ความสำคัญผู้ปกครองได้ เพราะตามปกติผู้ปกครองและชาวบ้าน ย่อมมีความรักและนับถือครูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การสร้างพื้นฐานความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน เป็นแนวทางสำคัญในการปรับปรุงการศึกษา ส่วน พนิจดา วีระชาติ ( 2542 : 55 ) ได้กล่าวถึงวิธีการที่โรงเรียนจะสร้างความสัมพันธ์ กับชุมชนนั้น มีอยู่หลายขั้นตอนโดยอาจเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับบ้านหรือผู้ปกครอง แล้วจึงขยายความร่วมมือไปสู่หน่วยงานและสถาบันอื่น ๆ ในชุมชน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองนั้น โรงเรียนสามารถดำเนินการได้ดังนี้ 1. จัดให้มีการปฐมนิเทศผู้ปกครองของนักเรียนในวันเปิดภาคเรียนโดยชี้แจงถึงวัตถุ ประสงค์ของการศึกษา และการดำเนินงานของโรงเรียน ทั้งด้านการสอน การอบรมบ่มนิสัยและ การพัฒนาด้านต่าง ๆ 2. เชิญผู้ปกครองมาเยี่ยมชมโรงเรียน เช่น มาชมการเรียนการสอน ชมการแสดงของ นักเรียน ชมนิทรรศการที่โรงเรียนจัดขึ้น เป็นต้น 3. เชิญผู้ปกครองมาร่วมแก้ไขปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับตัวเด็ก เช่น เด็กก้าวร้าว เด็กติดยาเสพย์ติด ฯลฯ 4. ให้ครูไปเยี่ยมผู้ปกครองและนักเรียนที่บ้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน และมีความสนิทสนมซึ่งกันและกัน 5. ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน เช่น เชิญมาเป็นวิทยากรในเรื่องที่เขามีความถนัดและความชำนาญสูง เชิญมาเป็นกรรมการในงานที่โรงเรียนจัดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการ แข่งขันกีฬา การจัดงานประเพณีหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่สนใจร่วมกัน ถ้าเป็นไปได้อาจเชิญผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนงานของโรงเรียน ทั้งในด้านหลักสูตร อาคารสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ของโรงเรียน 6. จัดตั้งสมาคมครูและผู้ปกครองขึ้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน และ โรงเรียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น วิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมีมากมายหลายวิธีด้วยกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จุดเน้นของการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนนั้นอยู่ตรงที่การนำโรงเรียนออกสู่ชุมชนด้วยวิธีการต่าง ๆ และนำชุมชนมาสู่โรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่าหากชุมชนและโรงเรียนมีความเข้าใจใน กิจกรรมซึ่งกันและกันแล้วจะส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี 6. บทบาทของผู้บริหารและโรงเรียนในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดคือ ผู้บริหาร สถานศึกษานั้นเอง ไม่ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรหากผู้บริหารไม่มีความรู้ความสามารถ หรือไม่มีความตั้งใจในการทำงาน งานนั้นก็ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนผู้บริหารและโรงเรียนควรมีบทบาทดังนี้ สุวิทย์ บุญช่วย ( 2525 :131 ) ได้กล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้ 2 ด้าน คือ 1. การนำโรงเรียนไปสู่ชุมชน โรงเรียนควรมีบทบาทดังนี้ 1.1 รายงานให้ประชาชนทราบ เกี่ยวกับกิจกรรมและความก้าวหน้าของโรงเรียน 1.2 สร้างความศรัทธาและเชื่อถือ ความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่ชุมชน ตลอดจนขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นบ่อเกิดของการเข้าใจผิดต่อโรงเรียน 1.3 ส่งเสริมให้สมาชิกของชุมชนเข้าใจหน้าที่ของโรงเรียน วัตถุประสงค์ของการ ศึกษา และส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนเข้าใจและรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นของชุมชนทุกคนจะต้องรู้เห็นและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน 1.4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์อันดีโดยยึด โรงเรียนเป็นศูนย์รวม 1.5 โรงเรียนควรจัดให้มีการสำรวจ หรือการประเมินผลของความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของโรงเรียนให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา 2. การนำชุมชนมาสู่โรงเรียน โรงเรียนควรมีบทบาทดังนี้ 2.1 พยายามจัดอาคารและสถานที่ของโรงเรียนให้เป็นประโยชน์แก่การจัดกิกรรม ต่าง ๆ ของชุมชนตามโอกาส 2.2 จัดหาผู้เชี่ยวชาญในการที่จะให้ความรู้ตามความต้องการของชุมชน 2.3 จัดโรงเรียนให้เป็นศูนย์กลางของการศึกษาผู้ใหญ่ ส่วน ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ ( 2530 : 82 - 83 ) ได้เสนอวิธีการที่โรงเรียนมีบทบาทร่วมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ไว้ดังนี้ 1. จัดให้มีกรรมการของโรงเรียนเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม 2. เปิดโอกาสให้ชุมชนได้ใช้อาคารสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น เป็นที่ ประชุมจัดงานตามโอกาสต่าง ๆ เป็นที่สอนหนังสือเผยแพร่ข่าวสารการศึกษา เป็นต้น 3. จัดการเรียนการสอนให้สัมพันธ์กับความต้องการของชุมชนเพื่อเด็กจะได้นำไปใช้ใน ชีวิตประจำวัน 4. ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นสร้างความสัมพันธ์ เช่น 4.1 ใช้แหล่งวิชาการในท้องถิ่นตามธรรมชาติ 4.2 ใช้แหล่งวัฒนธรรม เช่น วัด โบราณสถาน ศิลปพื้นเมือง 4.3 ใช้บุคลากรในท้องถิ่น เช่น ผู้ชำนาญในอาชีพ พระสงฆ์ แพทย์ พยาบาล ฯลฯ 4.4 ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หยิบยืมกันได้จากชุมชน ในทำนองเดียวกันชุมชนก็หยิบยืม อุปกรณ์ที่โรงเรียนมีอยู่ไปใช้ได้ 4.5 ใช้สื่อมวลชนเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เช่น สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ 5. จัดกิจกรรมต่างๆโดยให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในโรงเรียน เช่น จัดกีฬา นิทรรศการ กิจกรรมของนักเรียน เป็นต้น 6. จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง เช่น เทศกาล ต่าง ๆ การทำบุญตักบาตร การจัดงานเยาวชน สมาคม และกลุ่มสนใจต่าง ๆ ผู้บริหารเป็นบุคคลที่ชุมชนให้ความเชื่อถือดังนั้น ผู้บริหารจะมีบทบาทสำคัญในการนำการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ชุมชน และในบางครั้งผู้บริหารจะเป็นผู้ริเริ่มที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทางที่ดี มีประโยชน์แก่ชุมชนได้ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2541 : 27 ) กล่าวว่าการที่ผู้บริหาร โรงเรียนและคณะครู จะร่วมกันสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ต้องพัฒนาตนเองและกิจกรรมตาม บทบาทหน้าที่ ดังนี้ 1. การสร้างศรัทธาในตนเอง ผู้บริหารและคณะครูในโรงเรียนต้องพยายามพัฒนาตนเองให้ชุมชนได้เกิดความศรัทธาร่วมมือกันปฏิบัติงาน เช่น การศึกษาหาความรู้ให้เป็นผู้รอบรู้ ปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณลักษณะนิสัย คุณธรรม ให้เป็นที่ยอมรับและชุมชนปราถนา 2. การร่วมกันสร้างศรัทธาให้สถาบัน ผู้บริหารและคณะครู ร่วมกันพัฒนาโรงเรียนให้ชุมชนมีความภูมิใจและเชื่อมั่นในการเรียนการสอน เช่น การพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้า มีชื่อเสียง มีคุณภาพ นักเรียนมีคุณลักษณะ ความรู้ความสามารถ ตรงตามหลักสูตรและสังคมต้องการสภาพของโรงเรียนร่มรื่นเป็นปัจจุบัน ก้าวทันต่อความเจริญก้าวหน้าชนะการประกวดในเรื่องต่าง ๆ หรือในระดับต่าง ๆ จนถึงเป็นระดับโรงเรียนรางวัลพระราชทาน เป็นต้น 3. การสร้างความสนิทสนมกับชุมชน ผู้บริหารและครูผู้สอนต้องให้ความสำคัญในการสร้างความสนิทสนมกับชุมชน ด้วยการให้เวลาต้อนรับ ให้บริการด้วยความเต็มใจยิ่ง ไปร่วมงาน ช่วยเหลือพัฒนาชุมชนเป็นประจำ รวมทั้งการไปเยี่ยมเยียนชุมชนหรือผู้ปกครองที่ประสบโชคดีหรือประสบทุกข์ภัย 4. การเสริมสร้างเกียรติคุณของชุมชน ผู้บริหารและคณะครูจะต้องให้เกียรติแก่ชุมชน หรือคณะบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน เช่น การต้อนรับ การเชิญชวนร่วมงาน การกล่าวคำยกย่อง การมอบเกียรติบัตรและการประกาศเกียรติคุณเป็นประจำ 5. การจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ผู้บริหารและคณะครูต้องร่วมกัน จัด กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างหลากหลายและเป็นประจำ โดยถือหลักมนุษยสัมพันธ์เป็นหลัก มุ่งเน้นความร่วมมือมากกว่าการต้องการทรัพย์สินมาพัฒนาโรงเรียนแต่ฝ่ายเดียว และการจัดกิจกรรมทุกครั้ง หากคณะครูร่วมจัดทำโดยพร้อมเพรียงกันยิ่งเป็นการสร้างศรัทธาให้ชุมชนอย่างมาก 6. การร่วมกันประชาสัมพันธ์โรงเรียน ผู้บริหารและคณะครูทุกคนต้องถือว่ามีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์งานให้ชุมชนทราบ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามที่มีโอกาสและต่อเนื่องตลอดเวลา จะช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามบทบาทมากยิ่งขึ้น ผู้บริหารในสถานศึกษานับว่าเป็นตัวจักรสำคัญที่จะช่วยในการกระชับสัมพันธภาพกับ ชุมชนผู้บริหารจึงจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติในด้าน "ชอบสังคม" แม้จะชอบเก็บตัว จำเป็นจะต้อง ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนชอบสังคม เรื่องนี้สามารถฝึกฝนได้ไม่ยากนัก เพราะนอกจากผู้บริหารจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนแล้ว ยังต้องกระตุ้นให้บุคลากรในโรงเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องหาทางกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีบทบาท และส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียนด้วย ขอบข่ายงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2540 : 29 - 30 ) กล่าวว่าวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ให้สอดคล้องกับการบริหารโรงเรียน ในงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ภายใต้ขอบข่ายงาน 5 งาน คือ 1. การประชาสัมพันธ์โรงเรียน 2. การให้บริหารชุมชน 3. การเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน 4. การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน 5. การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและหน่วยงานอื่น ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไป 1. การประชาสัมพันธ์โรงเรียน เป็นงานที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญเพราะเป็นงานที่จะ เผยแพร่ข่าวสารการดำเนินการของโรงเรียนให้ชุมชนทราบและมีความภูมิใจในผลงานร่วมกัน รวมทั้งจะเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอันจะช่วยให้โรงเรียนปฏิบัติงานด้วยความสะดวกราบรื่นยิ่งขึ้น กิจกรรมที่ปฏิบัติโดยทั่วไป เช่น การประชุมผู้ปกครอง การจัดทำจุลสาร สิ่งพิมพ์ ป้ายประกาศ การพบปะเยี่ยมเยียน การออกข่าวทางสื่อสารมวลชน การจัดทำหอกระจายข่าว เสียงตามสายหรือการพูดประชาสัมพันธ์ในงานพิธีต่าง ๆ ที่มีโอกาส เป็นต้น ส่วน ภิญโญ สาธร ( 2523 : 424 ) ได้ให้ความหมายของการประชาสัมพันธ์โรงเรียนไว้ว่า คือ การสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างกลุ่มบุคคลหนึ่งกับประชาชน ซึ่งกลุ่มบุคคลนั้นมีหน้าที่รับใช้หรือให้บริการ การประชาสัมพันธ์โรงเรียนเป็นกระบวนการไมตรีสัมพันธ์สองทาง ( Two - way Process ) คือ โรงเรียนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2541 : 21 ) ได้ให้ความหมาย การประชาสัมพันธ์โรงเรียนไว้ว่า คือ การเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอันจะช่วยให้โรงเรียนปฏิบัติงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ธวัชชัย เปรมปรีดิ์ (2542:46) ได้ให้ความหมายไว้ คือ กระบวนการต่าง ๆ ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานแบบถาวรระหว่างชุมชนและโรงเรียน เป็นการเสนอข้อเท็จจริงให้ ประชาชนทราบเรื่องราวและโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การประชาสัมพันธ์โรงเรียน เป็นการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้โรงเรียนปฏิบัติงานไปได้ด้วยดีและประสบปัญหาน้อยลงหรือไม่มีปัญหาอีกต่อไป การประชาสัมพันธ์โรงเรียนเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งงานหนึ่งหากไม่มีการประชาสัมพันธ์ โรงเรียนอาจดำเนินงานไปได้ไม่ดีเนื่องจากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะปฏิบัติงานที่ดีมีประโยชน์ต่อชุมชนมากมายก็ตามเพราะชุมชนไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่าโรงเรียนกำลังทำอะไรและมีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไร การประชาสัมพันธ์มีวัตถุประสงค์ ดังที่ธวัชชัย เปรมปรีดิ์ ( 2542 : 46 ) กล่าวไว้ดังนี้ 1. เพื่อเสนอรายงานให้ประชาชนทราบความเคลื่อนไหวความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกี่ยว กับกิจกรรมของโรงเรียนและการจัดการศึกษา 2. ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ให้มีความรู้สึกเป็นเจ้า ของ (Sense of Belonging) และเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษา 3. ส่งเสริมให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ร่วมมือกันแก้ไข ปัญหาของนักเรียนทั้งทางโรงเรียนและที่บ้าน 4. สร้างความเชื่อถือ ศรัทธาและความเชื่อมั่นความนิยมของประชาชนที่มีต่อโรงเรียน 5. ประเมินความต้องการของผู้ปกครองและประชาชนในท้องถิ่นที่มีต่อการศึกษา เพื่อ โรงเรียนจะได้หาทางสนองตอบต่อความต้องการอย่างแท้จริง 6. ช่วยแก้ไข ขจัดปัดเป่าความขัดแย้งบรรดาข้อข้องใจทั้งหลายในแง่ต่าง ๆ ที่นักเรียน ผู้ปกครองและประชาชนมีต่อโรงเรียนให้หมดสิ้นไปให้ทุกฝ่ายมองโรงเรียนด้วยความชื่นชม 7. เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เสนอแนะเพื่อ ปรับปรุงแนวความคิด มิใช่เพียงแต่เป็นความต้องการของครูหรือโรงเรียนเท่านั้น 8. เพื่อให้นักเรียน ครู เข้าใจในระเบียบ กฎเกณฑ์ และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีกฎระเบียบให้เข้าใจตรงกัน เพื่อร่วมมือกันในการปฏิบัติ 9. เพื่อเชิญชวนให้ประชาชน สนับสนุนเกื้อกูลโรงเรียน ทางด้านกำลังกาย จิตใจ ปัญญาความคิด วัสดุ แรงงาน ตลอดจนด้านการเงิน ที่ขาดแคลน 10. สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างบ้าน โรงเรียน และชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกันโดยมีโรงเรียน เป็นศูนย์ประชาคม ศูนย์การศึกษา และศูนย์วัฒนธรรมของชุมชน การประชาสัมพันธ์โรงเรียนนั้น หวน พินธุพันธ์ ( 2528 : 190 ) และธวัชชัย เปรมปรีดิ์ ( 2542 : 47-48 ) ได้กล่าวถึงวิธีการประชาสัมพันธ์ไว้สอดคล้องกันดังต่อไปนี้ 1. จัดให้มีสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ข่าวสารของโรงเรียน อาจจะทำด้วยการอัดสำเนาเป็น กระดาษแผ่นเดียว หรือแผ่นพับ หรือเป็นเล่มก็ได้ และอาจจะออกเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือภาคเรียนละเล่มก็ได้ แล้วแต่ทางโรงเรียนจะมีค่าใช้จ่ายมากหรือน้อย สำหรับข่าวสารในสิ่งพิมพ์นี้ ก็ควรมีข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงเรียน ข่าวเกี่ยวกับการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่ที่เน้นให้เด็กคิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็นข่าวเกี่ยวกับบุคลากรในโรงเรียนและข่าวอื่น ๆ ที่ชุมชนควรทราบ 2. จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำโรงเรียนเพื่อตอบคำถามและให้ความสะดวกแก่ ประชาชนและผู้ปกครองนักเรียนที่มาติดต่อกับโรงเรียน อาจจะเขียนว่า "ประชาสัมพันธ์ " หรือ "ติดต่อสอบถาม" ก็ได้ แล้วให้เจ้าหน้าที่นั่งอยู่ประจำเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครอง ดังนั้นผู้ที่ทำงานนี้ต้องเป็นบุคคลที่มีกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่วางท่า ไม่หน้างอ ไม่รอนาน ไม่งานมาก และไม่ปากเสีย เป็นต้น 3. จัดเผยแพร่ข่าวสารของโรงเรียนทางสื่อสารมวลชน เช่น เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการจัดงานของโรงเรียน การจัดนิทรรศการของโรงเรียน การชุมนุมศิษย์เก่า การประชุมผู้ปกครองนักเรียนโดยเขียนข่าวดังกล่าวไปออกทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือลงหนังสือพิมพ์ ลงวารสารต่าง ๆ จะทำให้ประชาชนทราบข่าวสารของโรงเรียนมากยิ่งขึ้น 4. ให้นักเรียนทราบข่าวสารของโรงเรียนที่ถูกต้อง เพื่อนักเรียนจะได้ช่วยเผยแพร่ ข่าวสารให้ผู้ปกครองและประชาชนทราบต่อไป ซึ่งทางโรงเรียนมักแจ้งข่าวสารให้นักเรียนทราบในตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียน อันที่จริงก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก เพราะนักเรียนอาจจะฟังไปผิด ๆ หรือฟังไม่เข้าใจอาจจะไปเผยแพร่หรือไปเล่าต่อผิด ๆ ก็ได้ ดังนั้นควรจะย้ำหรือพูดให้เข้าใจ ถ้าครูประจำชั้นหรือครูผู้สอนจะนำไปย้ำในห้องเรียนอีกครั้งก็จะดีมาก ถ้าเป็นข่าวสารที่สำคัญควรจะทำเป็นราชการ คือทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทำเป็นสิ่งพิมพ์จะดีมากเพราะผิดพลาดน้อยที่สุด 5. ให้ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ คนงานภารโรง และยามของโรงเรียนได้ทราบข่าวสารของโรงเรียนที่ถูกต้องด้วย เพราะถ้าหากผู้ปกครองนักเรียนหรือประชาชนมาติดต่อโรงเรียนแต่ไม่พบเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โดยตรง แต่พบบุคคลดังกล่าว จะได้แจ้งข่าวสารที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานอกราชการ วันหยุด หรือวันหยุดภาคเรียน ผู้ปกครองนักเรียนหรือประชาชนมาติดต่อ โรงเรียนมักจะพบอาจารย์เวร ครูเวร เจ้าหน้าที่เวร ภารโรงและยาม เมื่อบุคคลเหล่านี้ไม่ทราบข่าวสารของโรงเรียนที่ถูกต้องก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อบุคคลดังกล่าวไปพบผู้ปกครองนักเรียน และประชาชนภายนอกโรงเรียนก็มักถูกถามข่าวสารของโรงเรียน รวมทั้งทางโทรศัพท์อีกด้วย ดังนั้นการให้บุคลากรของโรงเรียนได้ทราบข่าวสารของโรงเรียนที่ถูกต้องจึงเป็นผลดีอย่างยิ่ง 6. ครูใหญ่และผู้บริหารคณะครูออกประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง เช่นการออกเยี่ยมเยียนผู้ปกครองหรือประชาชนตามบ้าน การไปร่วมงานหรือร่วมกิจกรรมในชุมชน มักจะพบปะผู้ปกครองนักเรียนหรือประชาชน ก็ควรถือโอกาสแจ้งข่าวสารของโรงเรียนไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นอาจออกไปเยี่ยมเยียนผู้นำในชุมชนหรือบุคคลสำคัญในชุมชน เช่น เจ้าอาวาส กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้แทนราษฎร เป็นต้น 7. รับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียนหรือประชาชน ซึ่งอาจเป็นข้อข้องใจ ข้อเสนอแนะ ข้อบกพร่องของการดำเนินงานภายในโรงเรียน แล้วนำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานของโรงเรียน หรือทำความเข้าใจอันถูกต้อง เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน 8. เชิญผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนมาชมนิทรรศการ หรือกิจการของโรงเรียน หรือเชิญมาฟังการบรรยายเรื่องราวที่น่าสนใจ เมื่อผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนได้ชมนิทรรศการ หรือกิจกรรมของโรงเรียนก็จะเข้าใจโรงเรียนดียิ่งขึ้น เพราะได้ชมผลงานของบุตรหลานของตน หรือผลงานของโรงเรียน ส่วนการมาฟังการบรรยายก็จะรู้จักโรงเรียนดียิ่งขึ้น 9. จัดตั้งสมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า แล้วเชิญผู้ปกครองนักเรียนและ ศิษย์เก่าเป็นสมาชิก มีการเชิญประชุม จัดกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น สำหรับ ภิญโญ สาธร ( 2523 : 431 - 433 ) ได้เสนอสิ่งที่โรงเรียนน่าจะพิจารณาจัดทำเพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียน และเป็นการให้การศึกษาแก่นักเรียนด้วย คือ 1. การแข่งขันและการประกวด ( Contest ) เช่น การแข่งขันกีฬา การโต้วาที การอภิปราย การประกวดทางศิลปะ และการแสดงงานฝีมือต่าง ๆ ของนักเรียน 2. งานสังคม ( Social Affairs ) การจัดงานเลี้ยงอาหารที่โรงเรียนในโอกาสต่าง ๆ โดยเชิญผู้ปกครองและแขกผู้มีเกียรติมาร่วมด้วย 3. การแสดงละครและดนตรี ( Entertainments ) 4. การออกวารสารของนักเรียน ( Student Publication ) 5. สโมสรหรือชุมชนต่าง ๆ ของนักเรียน ( Club and Socials ) เช่น ชุมนุมภาษาไทย 6. สภานักเรียน ( Student Council ) 7. การประชุมนักเรียน ( Assembly Program ) 8. การทัศนาจร ( Sight - Seeing Tours ) 9. พิธีรับประกาศนียบัตร ( Commencement Programs ) คณะนิสิตปริญญาโทวิชาเอกการบริหารการศึกษา ( 2529 : 200 ) ได้สรุปวิธีการและสื่อที่สำคัญ ที่ผู้บริหารสามารถจะทำการประชาสัมพันธ์โรงเรียนไว้ ดังต่อไปนี้ 1. จัดตั้งแผนกประชาสัมพันธ์โรงเรียน เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์กิจการของ โรงเรียน 2. จัดตั้งสมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า ชมรม หรือกลุ่มอาชีพต่าง ๆ 3. ดำเนินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนหรือกิจกรรมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เช่น การแสดงของนักเรียน การแข่งขันกีฬาภายใน วันสำคัญทางศาสนา หรือประเพณีต่าง ๆ 4. จัดทำสิ่งพิมพ์และเอกสารต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่กิจกรรม ของโรงเรียนหรือจัดทำแบบ สำรวจความเห็นของประชาชน 5. อาศัยสื่อมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เพื่อการเผยแพร่กิจการ ของโรงเรียน 6. ใช้อุปกรณ์โสตทัศนศึกษาต่าง ๆ เช่น เครื่องฉายสไลด์ในการเสนอข่าวเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน หรือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาคมหรือชมรมต่าง ๆ 7. ใช้ป้ายนิเทศ แผ่นโปสเตอร์ หรือแผ่นภาพต่าง ๆ 8. ผลการดำเนินการกิจการต่าง ๆ ของโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนการ สอนให้ได้ผลดี ย่อมเป็นสื่อหรือเครื่องมือให้ชุมชนเข้าใจและศรัทธาต่อโรงเรียนมากขึ้น การประชาสัมพันธ์โรงเรียน เป็นภารกิจที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับ ชุมชนดำเนินไปในหนทางที่ควรจะเป็น ซึ่งการประชาสัมพันธ์โรงเรียนเป็นกระบวนการสองทาง ( Two - Way Process ) ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งงานการประชาสัมพันธ์โรงเรียนจะประสบความสำเร็จได้ก็โดยการช่วยเหลือกันของบุคลากรในโรงเรียนนั่นเอง และการประเมินผลการปฏิบัติงานว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ก็โดยการสังเกตการตอบสนองของชุมชนเป็นด้านหลักหากชุมชนตอบสนองกลับมาดีแสดงว่างานการประชาสัมพันธ์โรงเรียนประสบความสำเร็จ ซึ่งรูปแบบการประชาสัมพันธ์นั้นมีมากมายดังเช่น การจัดพิมพ์เอกสาร จัดทำป้ายนิเทศ การให้บุคลากรทั้งครู นักเรียนเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลของโรงเรียน การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียนและชุมชน และการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ของโรงเรียนเพื่อนำข่าวสารของโรงเรียนไปเผยแพร่ต่อ เป็นต้น 2. การให้บริการชุมชน หมายถึง การบริการที่โรงเรียนให้กับชุมชนตามความสามารถที่โรงเรียนจะดำเนินการได้ ได้แก่ การให้บริการด้านข่าวสารข้อมูล วิชาการ อาชีพ การให้คำแนะนำ คำปรึกษาหารือ การให้บริการอาคารสถานที่หรือวัสดุครุภัณฑ์ การให้การบริการด้านสวัสดิการ เพื่อการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ที่พักผ่อนหย่อนใจ สนามกีฬา สหกรณ์ร้านค้า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ร้านตัดผม ตู้ยาประจำหมู่บ้าน น้ำสะอาด เป็นต้น ปรีชา คัมภีรปกรณ์ และคนอื่น ๆ ( 2528 : 773 - 774 ) ได้กล่าวถึงการให้บริการแก่ ชุมชนไว้ว่า นอกจากการจัดกิจกรรมด้านต่าง ๆ แล้ว โรงเรียนควรจัดบริการให้แก่ชุมชนเพื่อความสะดวกและการประหยัด มีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีสภาพความพร้อมดีกว่าชุมชน เช่น มีบ่อน้ำ น้ำประปา เครื่องขยายเสียง โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องใช้ต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้โรงเรียนควรพิจารณาให้บริการแก่ชุมชนอย่างทั่วถึง และควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการให้บริการไว้เพื่อจะให้สิ่งของที่บริการนั้นคงทนสามารถให้บริการได้ตลอดไป สิ่งที่โรงเรียนสามารถช่วยเหลือชุมชนและให้บริการแก่ ชุมชน ได้แก่ 1. ด้านอาคารสถานที่ หากชุมชนขอใช้อาคารบริเวณของโรงเรียนเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ แล้ว โรงเรียนจะต้องอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี 2. ด้านเครื่องใช้ ได้แก่ เครื่องใช้ที่ยกเคลื่อนที่ได้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โต๊ะหมู่บูชา ถ้วยชาม เครื่องขยายเสียง ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ฯลฯ ซึ่งชุมชนไม่มีไว้เป็นประจำเพื่อกิจการของชุมชนครอบครัวหรือหมู่บ้านอาจจะมาขอยืมใช้ โรงเรียนควรเอื้ออำนวยตามสมควร 3. ด้านความรู้ เป็นบริการที่พัฒนาคนให้มีความคิดและความรู้ ตลอดจนสติปัญญาอัน จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนโรงเรียนควรจัดรายการประเภทให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น จดบรรยายธรรมะ การปกครอง การเกษตร การเลี้ยงดูทารก หรือการอนามัย นอกจากนี้เกี่ยวกับ วิชาชีพ โรงเรียนควรสนับสนุนอย่างเต็มที่และพร้อมที่จะเป็นแหล่งสาธิตทดลอง ทั้งนี้เพื่อให้ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด 4. ด้านสวัสดิการ เป็นบริการที่โรงเรียนจัดขึ้นสำหรับแก้ปัญหาสนองความต้องการตลอดจนช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ชุมชนได้แก่ การจัดสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ สนามกีฬา สหกรณ์ร้านค้า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ร้านตัดผม ตู้ยาประจำหมู่บ้าน บริการน้ำสะอาด และบริการโรงฝึกงานเพื่อซ่อมเครื่องมือการเกษตร โดยติดต่อบริการในราคาถูกเป็นพิเศษ 5. ด้านบุคลากร ได้แก่ ครู นักเรียน และภารโรง บุคลากรเหล่านี้สามารถให้บริการและให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับชุมชนได้ทั้งในด้านแรงงาน ความคิด และด้านอื่น ๆ สำหรับ หวน พินธุพันธ์ ( 2528 : 105 - 108 ) ได้กล่าวถึงสิ่งที่โรงเรียนสามารถช่วยเหลือชุมชน และการให้บริการแก่ชุมชนไว้ดังนี้ 1. โรงเรียนให้ความช่วยเหลือชุมชน สิ่งที่โรงเรียนจะให้ความช่วยเหลือชุมชน นอก เหนือจากการสอนในโรงเรียนแล้วยังมีมากมายหลายประการด้วยกัน ได้แก่ 1.1 นำนักเรียนอกไปช่วยพัฒนาชุมชน เช่น ไปช่วยทำความสะอาดวัด ถนนหน ทาง สร้างถนน หรือซ่อมถนนเข้าหมู่บ้าน ขุดบ่อน้ำ ขุดคูระบายน้ำเข้าไปใช้ในการเกษตรและปลูกต้นไม้ 1.2 โรงเรียนจัดให้มีการสอนหรือฝึกอบรมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพแก่ประชาชนในชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ปรับปรุงอาชีพของตนให้ดีขึ้น หรือได้ฝึกอาชีพใหม่ ๆ โดยโรงเรียนจัดให้ตามกำลังที่มีอยู่ เช่น ถ้าโรงเรียนมีครูอาจารย์ทางเกษตรอาจจะสอนหรือฝึกอบรมเกี่ยวกับการตอนต้นไม้ การต่อกิ่ง การทาบกิ่ง การเพาะเห็ดฟาง และการตอนไก่ หรือถ้าโรงเรียนมีโรงฝึกงานทางช่าง มีครูอาจารย์ทางช่างด้วย ก็อาจจะสอนหรือฝึกอาชีพทางช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างวิทยุ และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า 1.3 โรงเรียนให้ความช่วยเหลือในด้านความรู้และเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ แก่ชุมชน อาจจะทำได้ เช่น เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัย การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ โทษของยาฆ่าแมลง อันตรายจากการใช้ผงชูรส หรือการใช้สีย้อมผ้าผสมอาหารและผลเสียจาก การตัดต้นไม้ทำลายป่า 1.4 ทางโรงเรียนจัดให้มีการสำรวจความต้องการและความจำเป็นที่ชุมชน ควรได้ รับการพัฒนา เช่น ชุมชนต้องการน้ำมาใช้บริโภค หรือการเกษตร ต้องการโรงเรียน โรงพยาบาลและถนนหนทาง เมื่อสำรวจพบความต้องการและความจำเป็นที่ชุมชนควรได้รับการพัฒนาแล้ว จะได้หาทางพัฒนาต่อไป 1.5 ทางโรงเรียนร่วมกับหน่วยราชการอื่น เช่น สถานีอนามัยตำบล เพื่อสำรวจ อนามัยของชุมชน เช่น โรคภัยไข้เจ็บของประชาชน การหุงต้มอาหารรับประทานถูกสุขลักษณะหรือไม่ความสะอาดของบ้านเรือนเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคหรือไม่ ลักษณะของส้วมของประชาชนในชุมชนสะอาดหรือถูกสุขลักษณะหรือไม่ เพราะอาจจะแพร่เชื้อโรคได้ง่าย จากการสำรวจอนามัยของชุมชนจึงทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับอนามัยของชุมชนเพื่อทางโรงเรียนจะได้ร่วมมือกับหน่วยราชการในการบริการทางด้านสุขภาพและปรับปรุงอนามัยของประชาชนในชุมชนต่อไป 2. บริการเกี่ยวกับอาคารสถานที่ของโรงเรียนแก่ชุมชน การบริการเกี่ยวกับอาคารสถานที่ของโรงเรียนแก่ชุมชน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนได้อย่างดี ดังนั้นโรงเรียนควรบริการสถานที่ของโรงเรียนแก่ชุมชน โดยบริการในสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 2.1 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนในการจัดงานต่าง ๆ เช่น ประชาชนอาจจะขอใช้หอประชุมจัดงานมงคลสมรส หรือจัดงานชุมนุมต่าง ๆ 2.2 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้อาคารสถานที่เพื่อประชุม เช่น ผู้ใหญ่บ้านอาจขอใช้อาคารสถานที่เพื่อประชุมประชาชนในหมู่บ้าน 2.3 จัดบริการห้องสมุดแก่ประชาชนในชุมชน คือ ให้ประชาชนในชุมชนมาอ่าน หนังสือหรือยืมหนังสือในห้องสมุดได้ 2.4 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สนามกีฬาของโรงเรียน ในการออกกำลังกาย เล่นกีฬาต่าง ๆ การให้บริการในด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนโดยปกติมีการให้บริการอยู่แล้วแต่ไม่ได้มีการ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้โดยทั่วกัน หากโรงเรียนได้มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีการให้บริการ ของโรงเรียนก็สามารถดำเนินการอย่างได้ผล การให้บริการได้แก่ การให้บริการด้านสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ การให้บริการด้านความรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งทางวิชาการและวิชาชีพรวมทั้งความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ด้านแรงงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่โรงเรียนสามารถให้บริการได้ แต่มีปัญหาอีกหลายประการที่โรงเรียนไม่สามารถให้บริการได้ เช่น ไม่มีงบประมาณที่จะจัดซื้อ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ชำรุดเร็วจนเกินไป เป็นต้น 3. การเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน คือ การร่วมกิจกรรมของชุมชนโดยเฉพาะในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของชุมชนเท่าที่โรงเรียนมีความสามารถ และอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ กิจกรรมในข่ายงานที่โรงเรียนควรปฏิบัติมีหลายอย่าง คือ การเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประเพณีท้องถิ่น เช่น กิจกรรมทางศาสนา เข้าร่วมในกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น หรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และร่วมงานอื่น ๆ ของท้องถิ่นหรือของบุคคลตามวาระอันควร หวน พินธุพันธ์ ( 2528 : 109 ) ได้เสนอการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนไว้ 2 ลักษณะ คือ 1. การออกไปเยี่ยมเยียนผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้คณะครูออกไปเยี่ยมเยียนผู้ปกครองนักเรียนด้วย การที่ครูใหญ่หรือคณะครูออกไปเยี่ยมเยียนผู้ปกครองนักเรียนนั้น จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้เกิดการปรึกษาหารือกันในด้านต่าง ๆ เช่น เกี่ยวกับตัวนักเรียนว่าอยู่บ้านกับที่โรงเรียนมีพฤติกรรมเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร 2. การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น ทางวัดจัดงานประจำปี จัดพิธีเวียนเทียน วันวิสาขบูชาทางโรงเรียนก็พานักเรียนไปช่วยงานหรือร่วมพิธี นอกจากนี้ถ้าประชาชนในชุมชนมี งานศพ งานอุปสมบท งานทำบุญ ครูใหญ่หรือ คณะครูก็ควรไปร่วมงานด้วย การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนนี้ จะทำให้ครูได้พบปะพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ หลายฝ่ายอีกด้วย ส่วน ปรีชา คัมภีรปกรณ์ และคนอื่น ๆ ( 2528 : 772 - 773 ) ได้กล่าวถึงกิจกรรมที่นำ โรงเรียนออกสู่ชุมชนไว้สอดคล้องกัน ดังนี้ 1. การจัดทัศนศึกษาภายในชุมชน จุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง จากชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ได้คุ้นเคยกับท้องถิ่นของตน จะทำให้เกิดสำนึกในเบื้องต้นว่าชุมชนของตนนั้นมีสิ่งที่ควรสนใจและน่าศึกษาอยู่ไม่น้อย ในโอกาสเช่นนี้โรงเรียนอาจจัดให้นักเรียนและ ประชาชนทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันด้วยก็ได้ 2. การจัดสัปดาห์แห่งการทำความสะอาด เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมาก เพราะเป็นการช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนเป็นอย่างดี โรงเรียนควรจะทำการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบความมุ่งหมายและวิธีการดำเนินการก่อนความร่วมมือของประชาชนก็จะตามมา 3. งานเกษตรชุมชน กิจกรรมนี้ส่งเสริมให้นักเรียนปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้านของ นักเรียนทุกคนและทุกครอบครัว โดยทางโรงเรียนอาจจะแจกพันธ์ผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ โหระพา พริก หรือมะเขือให้เด็กนักเรียน ต่อจากนั้นโรงเรียนจัดแบ่งครูให้รับผิดชอบแต่ละหมู่บ้านไปตรวจให้คะแนนตามบ้านนักเรียนและถือโอกาสเยี่ยมเยียนประชาชนไปในตัวด้วย โดยให้ครูออกไปเดือนละครั้ง ใช้เวลาในวันสุดสัปดาห์แทนการประชุมสวดมนต์ นอกจากนี้โรงเรียนอาจแจกพันธ์ไม้ชนิดอื่นที่นักเรียนเพาะชำไว้กับประชาชนอีกก็ได้ กิจกรรมนี้จะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนได้เป็นอย่างดียิ่ง 4. การพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชน ในการสอนกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ งานบ้าน ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดบ้านที่รับแขก ห้องนอน ห้องครัว เครื่องใช้ภายในบ้านและการสุขาภิบาล แทนที่ครูจะทำการสอนที่โรงเรียนโดยให้เด็กอ่านจากตำราการสาธิต หรือการแสดงบทบาทสมมุติ โรงเรียนควรติดต่อกับประชาชนที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียน ขอนำนักเรียนไปฝึกงานที่บ้านซึ่งจะเป็นการรู้จักประสบการณ์ตรงเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัว ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านไปในตัว ทั้งยังสามารถสร้างความประทับใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน 5. การเลี้ยงสัตว์ โรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักการเลี้ยงสัตว์เล็ก ๆ ที่โรงเรียน เช่น เป็ด ไก่ ห่าน กระต่าย ได้แล้ว โรงเรียนควรจะได้แจกพันธุ์สัตว์ดังกล่าวให้นักเรียนนำไปเลี้ยงที่บ้านบ้างโดยการวางเงื่อนไขที่เหมาะสม กิจกรรมนี้จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยมีนักเรียนเป็นสื่อนำไป และอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนรายได้ให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง นอกจากแจกพันธ์สัตว์ไปแล้ว โรงเรียนควรติดตามผลโดยแบ่งเขตความรับผิดชอบให้ครูเกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอย่างน่าชื่นชม 6. การเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ในชุมชนมีกิจกรรมหลายประเภท เช่น กิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน ดังนั้นทั้งครู อาจารย์ นักเรียน ควรหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนมองเห็นว่า โรงเรียนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจกรรมของชุมชน การเข้าร่วมในกิจกรรมของชุมชนโรงเรียนสามารถเข้าร่วมได้ เช่น กิจกรรมการพัฒนาชุมชน การออกเยี่ยมเยียนชุมชน กิจกรรมที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น กิจกรรมทางศาสนา การเข้าร่วมเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าร่วมเนื่องในวันวิสาขะบูชา วันมาฆบูชา วันลอยกระทง การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นหรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมของบุคคลในชุมชน โรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันผู้นำของชุมชน เป็นศูนย์รวมของชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนย่อมจะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับชุมชนได้เป็นอย่างดี 4. การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน คือ การเปิดโอกาสเชิญชวนให้บุคคลใน ชุมชนได้เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เช่น การเชิญประชาชนมาร่วมในกิจกรรม งานวันแม่ หรือ วันสำคัญอื่น ๆ ของโรงเรียน การเชิญบุคคลในท้องถิ่น ที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นวิทยากรในโรงเรียน และให้บุคคลในชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาโรงเรียน โดยการช่วยเหลือ ด้านแรงงาน หรือ วัสดุอุปกรณ์ ปรีชา คัมภีรปกรณ์ และคนอื่น ๆ ( 2528 : 770 - 772 ) ได้เสนอกิจกรรมนำชุมชนเข้าสู่ โรงเรียนไว้หลายลักษณะดังต่อไปนี้ 1. การจัดการศึกษาผู้ใหญ่ โรงเรียนสามารถจัดได้ทั้งในรูปของการศึกษาผู้ใหญ่สาย สามัญ สายอาชีพ และกลุ่มสนใจทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียน ความร่วมมือของผู้บริหารและความต้องการของประชาชน 2. การจัดนิทรรศการ เป็นการแสดงผลงานทางวิชาการของโรงเรียนให้ประชาชนทราบ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าชมกิจการเกี่ยวกับการเรียนการสอน และอาคารสถานที่ของโรงเรียนโดยทั่วไป กิจกรรมนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เห็นผลงานและความสามารถของครูอันจะก่อให้เกิดความศรัทธาต่อโรงเรียนด้วย 3. การจัดงานประจำปีของโรงเรียน เป็นการดึงประชาชนให้เข้าชมกิจการและผลงาน ของโรงเรียน รวมทั้งการแสดงความสามารถของนักเรียนในด้านต่าง ๆ เช่น การละคร ฟ้อนรำ ดนตรี และการศึกษา 4. การจัดฝึกอบรมประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมเยาวชน ลูกเสือชาว บ้าน ไทยอาสาป้องกันชาติ หรือยุวเกษตรกร โดยโรงเรียนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมขึ้นที่โรงเรียนเป็นการนำชุมชนเข้าสู่โรงเรียน และได้รับบริการที่โรงเรียนมีอยู่ เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยและมองเป็นคุณค่าของโรงเรียนจนกลายเป็นความผูกพันต่อกัน ต่อจากนั้นโรงเรียนก็จะมีพลังประชาชนคอยให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น 5. การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งโรงเรียนสามารถจัดได้ เช่น 5.1 การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ โรงเรียนเป็นฝ่ายให้บริการด้านสถานที่ แสงเสียง เครื่องใช้ต่าง ๆ และเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมโดยนำอาหารมารับประทานร่วมกันมี รายการสนุกสนานรื่นเริงตามที่เห็นสมควร และพยายามฟื้นฟูการละเล่นของท้องถิ่นด้วย 5.2 การจัดงานวันสงกรานต์ นอกจากจัดสรงน้ำพระแล้ว ควรจัดสรงน้ำให้คนชรา ภายในหมู่บ้าน มีการละเล่นพื้นเมืองและการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ 5.3 การจัดงานหล่อเทียนพรรษา นอกจากโรงเรียนจะเป็นศูนย์กลางในการจัดงาน รื่นเริงแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการจัดงานบุญงานกุศลด้วย โดยริเริ่มชักชวนประชาชนให้ร่วมทำบุญหล่อเทียนพรรษา จัดตกแต่งเทียนและกระบวนแห่ไปตามวัดต่าง ๆ 5.4 การจัดงานเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาโรงเรียนสามารถเป็นผู้นำและ ชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันเวียนเทียนในตอนกลางคืน ต่อจากนั้นอาจจะจัดให้มีการบรรยายธรรมะฉายสไลด์ และภาพยนตร์เกี่ยวกับธรรมะ 5.5 การจัดงานวันลอยกระทง เป็นการฟื้นฟูประเพณีไทย โดยโรงเรียนอาจจะเป็น ผู้ริเริ่มพร้อมทั้งให้บริการด้านสถานที่และความสะดวกด้านต่าง ๆ แก่ประชาชน 6. การจัดกิจกรรมส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรมแก่นักเรียนโดยการเชิญชวนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมทั้งให้เกียรติยกย่องเพื่อให้เกิดความประทับใจกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น จนกลายเป็นความรู้สึกผูกพันระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอย่างแน่นแฟ้น ได้แก่ 6.1 กิจกรรมวันไหว้ครู โรงเรียนควรนิมนต์พระสงฆ์ หรือเชิญผู้นำทางศาสนาและ พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนทุกคนมาร่วมพิธีด้วย 6.2 การจัดวันพ่อและวันแม่ เป็นกิจกรรมที่ให้เกียรติและความสำคัญแก่ประชาชน ผู้ปกครองนักเรียนเป็นอย่างมากโดยการเชิญพ่อแม่นักเรียนมาในงานดังกล่าวกิจกรรมนี้จะเสริมสร้างความรักความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว และการที่โรงเรียนจัดกิจกรรมให้เกียรติยกย่องแก่ประชาชนเป็นผลให้ประชาชนเกิดความประทับใจและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี 7. การจัดงานแจกประกาศนียบัตรแก่นักเรียน โดยการเชิญผู้ปกครองนักเรียนมาร่วม ด้วย 8. เชิญประชาชนมาเป็นวิทยากรในโรงเรียน ประชาชนบางคนมีความรู้ความสามารถ ในสาขาวิชาต่าง ๆ โรงเรียนควรพิจารณาเชิญมาสอนนักเรียนเป็นการให้ความสำคัญและให้เกียรติแก่ประชาชน ส่วน หวน พินธุพันธ์ ( 2528 : 104 - 107 ) ได้กล่าวถึงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมใน กิจกรรมของโรงเรียนไว้ 3 ลักษณะ คือ 1. การเชิญผู้ปกครองนักเรียน หรือประชาชนในชุมชนมาโรงเรียน นับว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนได้เป็นอย่างดี ถ้าโรงเรียนสามารถเชิญผู้ปกครองนักเรียนหรือประชาชนในชุมชนมาโรงเรียนได้ และในการเชิญนั้นอาจจะเชิญได้ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้ 1.1 เชิญผู้ปกครองนักเรียนมาโรงเรียนเพื่อประชุมชี้แจงนโยบายของโรงเรียน ซึ่ง อาจจะทำได้ในวันปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ก็เชิญผู้ปกครองนักเรียนด้วย หรือก่อนเปิดเรียนในปีการศึกษาใหม่ทุกปีก็ควรเชิญผู้ปกครองมาประชุมทุกปี เพื่อผู้ปกครองจะได้ทราบนโยบายของโรงเรียน เช่น นโยบายเกี่ยวกับการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่ จะเน้นให้เด็กคิดเป็นทำเป็น แก้ปัญหาเป็นผู้ปกครองก็ควรจะทราบและเข้าใจนโยบายของโรงเรียน 1.2 เชิญผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนในชุมชนเพื่อปรึกษาหารือในการปรับปรุง โรงเรียน ซึ่งผู้ปกครองและประชาชนย่อมจะมีความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์หรือมีความคิดใหม่ ๆ ในการปรับปรุงโรงเรียนได้ 1.3 เชิญประชาชนในชุมชนมาร่วมกันกับครูในโรงเรียนเพื่อปรึกษาหารือในการ ปรับปรุงชุมชน หรือแก้ปัญหาในชุมชน เช่น ทำคูระบายน้ำ ทำถนนเข้าหมู่บ้าน หรือแก้ปัญหา เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน 1.4 เชิญผู้ปกครองนักเรียนมาพบปะสังสรรค์กับครูในโรงเรียนอาจจะรับประทาน อาหารร่วมกันและพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกันไปด้วย ย่อมจะสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยระหว่างครูกับผู้ปกครองยิ่งขึ้น ต่อไปจะร่วมกันปรึกษาหารือปรับปรุงโรงเรียน ปรับปรุงชุมชน หรือแก้ปัญหานักเรียนก็ย่อมจะทำได้สะดวก และสำเร็จลุล่วงได้ 1.5 เชิญผู้ปกครองนักเรียนมาชมนิทรรศการผลงานของนักเรียน ย่อมจะทำให้ผู้ ปกครองภูมิใจในผลงานของบุตรหลานของตนด้วย ซึ่งผลงานของนักเรียนอาจจะเป็นผลงานในด้านวิชาการและพื้นฐานอาชีพ ศิลปศึกษา หรือวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้อาจจะเชิญผู้ปกครองนักเรียน มาเยี่ยมโรงเรียนและชมกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้น เช่น ชมการปฏิบัติงานของนักเรียนในวิชาเกษตรกรรม งานช่าง หรือแม้กระทั่งชมการเรียนการสอนในชั้นเรียนก็ย่อมทำได้ 1.6 ทางโรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีระหว่างผู้ปกครองนักเรียนหรือ ประชาชนกับครูและนักเรียน เช่น จัดแข่งขันกีฬา โดยเชิญผู้ปกครองนักเรียน และประชาชนมาร่วมแข่งขัน 1.7 เชิญแม่ของนักเรียน มาร่วมงานวันแม่ ที่โรงเรียนจัดขึ้น เป็นการฝึกให้นักเรียน มีความกตัญญูกตเวทีต่อแม่ของตน โดยเชิญแม่ของนักเรียนขึ้นไปนั่งบนเวทีแล้วให้นักเรียนขึ้นไปกราบแม่ของตน และชี้ให้นักเรียนเข้าใจถึงพระคุณของแม่ที่มีต่อลูกด้วย 2. โรงเรียนขอความช่วยเหลือความร่วมมือจากชุมชน เมื่อโรงเรียนให้ความช่วยเหลือ ชุมชนแล้ว โรงเรียนก็ขอความช่วยเหลือจากชุมชนรวมทั้งการขอความร่วมมือจากชุมชนได้ คือ เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นเอง สิ่งที่โรงเรียนจะขอความช่วยเหลือและขอความร่วมมือจากชุมชนนั้น พอจะแยกได้ดังนี้ 2.1 ขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากชุมชน ถ้าหากประชาชนในชุมชนมีฐานะ ทางการเงินดีพอสมควร เช่น พ่อค้า นายธนาคาร ก็คงจะขอความช่วยเหลือทางการเงินได้แต่ถ้าเป็นกรรมกรหาเช้ากินค่ำก็ไม่ควรไปรบกวนอย่างยิ่ง ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของทางโรงเรียนด้วย 2.2 ขอความช่วยเหลือทางด้านวัสดุ อุปกรณ์รวมทั้งอาหารการกินจากชุมชน ถ้าหาก ประชาชนในชุมชนมีอาชีพทางเกษตรกรรม อาจจะขอข้าวสารพืชผักผลไม้สำหรับทำอาหารให้ นักเรียนรับประทาน ส่วนประชาชนตามร้านค้าในตลาดอาจจะขอกระดาษสี เครื่องมือ เครื่องใช้ ต่าง ๆ เพื่อใช้ในโรงเรียน 2.2 ขอความร่วมมือในด้านแรงงานจากประชาชนในชุมชน ถ้าหากประชาชนไม่มี เงินหรือวัสดุอุปกรณ์จะช่วยเหลือโรงเรียนได้ ก็อาจจะช่วยซ่อมแซมอาคารเรียนได้ ช่วยสร้างรั้ว ช่วยทำอุปกรณ์การสอน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือทางด้านแรงงานนั้นเอง ดังนั้น การขอความช่วยเหลือ และขอความร่วมมือจากชุมชนนั้น มิใช่จะขอเงินหรือวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น เพราะบางชุมชนปรากฎว่าประชาชนยากจน ถ้าหากประชาชนที่มีเวลาว่างบ้างก็อาจจะขอให้มาช่วยงานของโรงเรียนดังกล่าวแล้วข้างต้นได้ 2.4 ขอความร่วมมือในด้านคำปรึกษาหารือหรือความคิดเห็นในการปรับปรุง โรงเรียนจากประชาชนในชุมชน ดังได้กล่าวในเรื่องการเชิญผู้ปกครองหรือประชาชนมาประชุมที่ โรงเรียน เพื่อปรึกษาหารือในการปรับปรุงโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นการขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยเช่นกัน 3. การใช้ทรัพยากรในชุมชน ทรัพยากรในชุมชนที่จะนำมาใช้ในโรงเรียน หรือโรงเรียนจะใช้มีมากทีเดียว เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรประเภทสถาบันต่าง ๆ และทรัพยากรประเภทวัฒนธรรมพื้นบ้าน การจะใช้ทรัพยากรในชุมชนประเภทต่าง ๆ เหล่านี้จะทำได้ดังต่อไปนี้ 3.1 นำทรัพยากรในชุมชนมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน เช่น ดิน หิน แร่ พืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มาใช้ประกอบการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ใบไม้ เมล็ดพืช สีจากพืช มาเรียนในวิชาศิลปศึกษา หรือเมล็ดพืชมานับในวิชาเลขคณิต อันที่จริงทรัพยกรเหล่านี้หาได้ง่ายในชุมชน ถ้าหากทางโรงเรียนรู้จักนำมาใช้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งไม่สิ้นเปลืองเงินทองอีกด้วย 3.2 เชิญบุคคลในชุมชนมาเป็นวิทยากรแก่นักเรียน เช่น นิมนต์พระสงฆ์มาสอน ศีลธรรม เชิญเกษตรอำเภอมาบรรยายหรือสาธิตเกี่ยวกับการเกษตร เชิญอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมาบรรยายเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัย เชิญกำนันมาบรรยายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือเชิญคนสูงอายุมาเล่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน อันที่จริงบุคคลในชุมชนมีความรู้ในแขนงต่าง ๆ มากมายถ้าทางโรงเรียนรู้จักเชิญมาเป็นวิทยากรในโรงเรียนก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งอีกทั้งยังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย 3.3 นำนักเรียนออกไปศึกษานอกสถานที่ตามสถาบันต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล ไปรษณีย์ พิพิธภัณฑ์ โรงงานอุตสาหกรรม วัด โบราณสถานและสวนสัตว์ 3.4 ศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อให้นักเรียนรักท้องถิ่นของตนเองยิ่งขึ้น เช่น การ ศึกษาประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ตำบล ศึกษาศิลปะพื้นฐาน การละเล่นพื้นบ้าน และประเพณีของหมู่บ้าน ในการศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านนี้อาจจะพานักเรียนออกไปสอบถามชาวบ้านหรือไปดูการละเล่นพื้นบ้าน เช่น การจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ในการนี้จะช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมพื้นบ้าน จะได้ช่วยกันรักษาไว้ ทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนแนบแน่นยิ่งขึ้นด้วย การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียนเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลในชุมชนได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือไปจากโรงเรียนเองหรือประชาชนเข้ามาร่วมโดยสมัครใจก็ตามแต่ทั้งนี้แหละทั้งนั้นต้องระวังการขอความช่วยเหลือจากชุมชนว่าจะขอความช่วยเหลือในเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสม ในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของครู และผู้บริหารที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชุมชนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบมาถึงโรงเรียนได้การให้ชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งทางด้านวิทยากร แรงงาน วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ สถานที่หรือคำแนะนำ การให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนได้จัดขึ้น ไม่ว่าจะด้านวิชาการ วันสำคัญต่าง ๆ งานประเพณี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวโรงเรียนได้วางแผนหรือโครงการในการขอรับความช่วยเหลือล่วงหน้าและเมื่อได้รับการสนับสนุนควรจัดกิจกรรมยกย่องให้เกียรติ ออกเกียรติบัตรหรือรายงานผู้บังคับบัญชาชั้นสูง เพื่อออกเกียรติบัตรหรือเครื่องหมายตอบแทนตามระเบียบทางราชการต่อไป 5. การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและหน่วยงานอื่น หมายถึง การดำเนินงานหรือกิจกรรมของโรงเรียน ที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสัมพันธ์อันดี เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดงานประจำปีการจัดงานวันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง หล่อเทียนจำพรรษา วันไหว้ครู วันพ่อ วันแม่ วันแจกประกาศนียบัตร ทัศนศึกษาชุมชน การพัฒนาชุมชน การแข่งขันกีฬา เป็นต้น ปรีชา คัมภีรปกรณ์ และคนอื่น ๆ ( 2528 : 736 - 768 ) ได้กล่าวไว้ว่า โรงเรียนประถมศึกษาต้องตั้งอยู่ในชุมชนจึงจะต้องมีความสัมพันธ์กับสมาชิกของชุมชน ซึ่งสามารถจำแนกกลุ่มของบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับโรงเรียนได้ คือ 1. กลุ่มผู้ปกครองนักเรียน เป็นกลุ่มที่จะต้องมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับโรงเรียน มากที่สุด ในฐานะที่เป็นผู้รับ "บริการ" จากโรงเรียนกลุ่มนี้ จะมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น และเป็นกลุ่มที่มีผลได้ผลเสีย จากการดำเนินงานของโรงเรียนโดยตรง ความสัมพันธ์กับทาง โรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นไปโดยผ่านทางนักเรียน และสมาคมผู้ปกครองและครู 2. กลุ่มผู้นำของชุมชน กลุ่มนี้สามารถแยกออกได้เป็นหลายกลุ่มย่อย และแต่ละกลุ่มย่อยต่างมีความสัมพันธ์กับโรงเรียนแตกต่างกันออกไป จึงทำให้กลุ่มนี้โดยส่วนรวมมีความสัมพันธ์กับโรงเรียนแทบทุกด้าน 3. กลุ่มศิษย์เก่า เป็นกลุ่มที่เกิดจากผลิตผลของโรงเรียน รูปแบบของความสัมพันธ์อาจจะเป็นรูปแบบของสมาคมศิษย์เก่า หรือกลุ่มผู้นำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ 4. กลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนประถมศึกษา ในระดับ ชุมชนมีหลายหน่วยงาน เช่น สภาตำบล เกษตรตำบล สำหรับกลุ่มผู้นำชุมชนสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีระดับและรูปแบบของความสัมพันธ์กับโรงเรียนแตกต่างกันออกไป เช่น 1. วัด หรือกลุ่มทางศาสนา 2. กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักธุรกิจจะเกี่ยวข้องกับโรงเรียนในหลายบทบาท ทั้งในด้านผู้รับ และผู้ให้ กล่าวคือ โรงเรียนอาจเป็นลูกค้าของนักธุรกิจในด้านการจัดซื้อวัสดุ สิ่งของ บริการของธนาคาร ในขณะเดี่ยวกัน โรงเรียนอาจจะต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงิน วัสดุอุปกรณ์ หรือวิทยากรจากกลุ่มนี้ได้ 3. กลุ่มผู้มีอิทธิพล ซึ่งหมายรวมถึงผู้มีอิทธิพลด้านความคิดและการดำเนินงานของ สมาชิกในชุมชน ได้แก่ผู้มีความรู้สูง ผู้อาวุโสหรือผู้มีฐานะดี กลุ่มจะเกี่ยวข้องในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งของโรงเรียนและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเกี่ยวกับงานประเพณีของชุมชน นอกจากกลุ่มผู้นำที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกลุ่มย่อย ๆ อื่น ๆ อีก เช่น กลุ่มอาชีพ อันได้แก่ กลุ่มเกษตรกร พ่อค้า ข้าราชการ และกลุ่มนักการเมือง การดำเนินงานของโรงเรียนให้ก้าวหน้านั้นต้องมีการประสานระหว่างโรงเรียนกับชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ ซึ่งการร่วมเป็นไปได้หลายรูปแบบ และหลายระดับ สำหรับกลุ่มผู้นำชุมชนอาจจะมีรูปแบบ ในกรณีมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนได้หลายประการ เช่น 1. การให้ข้อมูล ในบทบาทประการนี้ กลุ่มผู้นำจะเป็นแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ทางโรงเรียนต้องการ เช่น ปัญหาและความต้องการของชุมชน แหล่งทรัพยากร สภาพเศรษฐกิจของชุมชน เจตคติของชุมชนต่อการศึกษา โรงเรียนได้มาโดยการสอบถาม 2. การให้คำปรึกษา ในการกำหนดแนวนโยบายหรือการดำเนินงานของโรงเรียน ใน บางครั้งจำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะด้านของบุคคลที่อยู่ภายนอกโรงเรียน โดยการไปขอความเห็นจากกลุ่มผู้นำเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน 3. เป็นแหล่งทรัพยากร ในการดำเนินงานของโรงเรียนประถมศึกษานั้น ถ้าหาก โรงเรียนจะยึดถือเอางบประมาณของทางราชการแต่เพียงอย่างเดียวก็สามารถทำได้ แต่ยังมีกิจกรรมบางอย่างที่หากสามารถทำได้แล้วโรงเรียนพัฒนาไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เร็วขึ้นกว่าการอาศัยงบประมาณของทางราชการแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้บริหารต้องอาศัยกลุ่มผู้นำของชุมชนเป็นแหล่งทรัพยากรทางการบริหารโรงเรียน ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้นำชุมชนมีอยู่หลายกลุ่ม ดังนั้นรูปแบบของความร่วมมือช่วยเหลือในการพัฒนาโรงเรียนจึงมีหลายรูปแบบ ตัวอย่าง เช่น 1. การร่วมมือในรูปคณะกรรมการ รูปแบบนี้อาจจะเป็นรูปแบบกรรมการที่ถาวร เช่น เป็นคณะกรรมการจัดงานวันสัมพันธ์ชุมชนโรงเรียน รูปแบบของความร่วมมือในรูปคณะกรรมการนี้ โรงเรียนจะได้รับผลประโยชน์ค่อนข้างมากในด้านของข้อมูล แนวความคิดและแนวทางการ ปฏิบัติงาน 2. การร่วมมือในรูปแบบขององค์การ การร่วมมือในรูปแบบนี้เป็นการที่ผู้นำชุมชนได้ รวมกลุ่มกันแล้วให้ความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มนายธนาคาร สมาคมพ่อค้า หรือมูลนิธิ ความร่วมมือ ช่วยเหลือจากรูปแบบนี้มักจะเป็นวัสดุ ครุภัณฑ์ หรือการเงิน 3. การร่วมมือในรูปแบบของบุคคล เป็นการให้ความร่วมมือช่วยเหลือจากบุคคลถึง โรงเรียนโดยตรง การดำเนินงานทุกอย่างมักจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ด้วยเสมอ ในการขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้นำชุมชนเพื่อการพัฒนาโรงเรียนก็เหมือนการดำเนินงานอื่น ๆ คือ มีปัญหาอยู่หลายประการ เช่น 1. โรงเรียนไม่มีข้อมูลรายละเอียด ในการขอความร่วมมือจากชุมชนในบางครั้ง บาง โรงเรียนไม่ได้แจ้งข้อมูลรายละเอียดแก่ชุมชน จึงทำให้การขอความร่วมมือไม่ได้รับผลเท่าที่ควร 2. โรงเรียนขอความร่วมมือบ่อยครั้งเกินไป 3. โรงเรียนขาดการรายงานให้ชุมชนทราบ 4. โรงเรียนขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับสภาพชุมชน 5. ปัญหาเรื่องการขัดแย้งส่วนบุคคล นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้วอาจจะมีปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ปัญหาเรื่องการขัดแย้งกัน ทางผลประโยชน์ ปัญหาทางความคิดทางการเมือง วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้อาจจะมีหลายวิธีแตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมและบุคลิกภาพของผู้บริหารโรงเรียน เมือเกิดปัญหาใดขึ้นแล้ว ผู้บริหารจะต้องยอมรับ วิเคราะห์หาสาเหตุและลงมือหาทางแก้ปัญหาให้ถูกจุดทันที ก็สามารถจะแก้ปัญหาได้ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานอื่นในชุมชนนั้นนอกจากจะมี โรงเรียน วัดหรือศาสนสถานตั้งอยู่แล้วยังมีหน่วยงานอื่น เช่น เกษตร สาธารณสุข พัฒนาชุมชน ไปรษณีย์ ไฟฟ้า ประปา ธนาคาร สภาตำบล และสมาคมต่าง ๆ ได้เข้ามาให้บริการแก่ประชาชนบางหน่วยงานก็จัดตั้งเป็นสำนักงานถาวรมีเจ้าหน้าที่ประจำ บางหน่วยงานก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้บริการเป็นครั้งคราว จำนวนหน่วยงานจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนประชากรของ ชุมชน การสร้างความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่งทั้งนี้เพื่อเป็นการประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการดึงหน่วยงานอื่นให้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของโรงเรียน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนและประชาชนการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจทำได้ในลักษณะดังต่อไปนี้ 1. การสร้างความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่น 2. การให้บริการด้านอาคารสถานที่ เมื่อมีหน่วยงานอื่นมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัย อาคารสถานที่ของโรงเรียนเพื่อกิจกรรมบางอย่าง เช่น สาธารณสุข เกษตร พัฒนาชุมชน หรือฝ่ายปกครอง โรงเรียนก็ควรอำนวยความสะดวกและบริการในเรื่องต่าง ๆ ในฐานะเจ้าของสถานที่เป็นอย่างดีด้วย 3. การดึงหน่วยงานอื่นเข้าสู่โรงเรียน ในกรณีที่โรงเรียนมีห้องเรียนว่างอยู่อาจจะให้หน่วยงานอื่นยืมใช้เป็นสำนักงานชั่วคราว เช่น จัดตั้งเป็นหน่วยบริการอนามัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์เยาวชน ที่ทำการเกษตรตำบล ยุวเกษตรกร หรือสภาตำบล นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันแล้วโรงเรียนจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากบริการด้านต่าง ๆ ของ หน่วยงานดังกล่าว รวมทั้งความร่วมมือในด้านบุคลากรและสิ่งที่สำคัญยิ่งคือประชาชนได้รับความสะดวกที่จะใช้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนได้เข้ามาใกล้ชิดกับโรงเรียนมากยิ่งขึ้น 4. การประสานงานให้หน่วยงานอื่นมาจัดกิจกรรมหรือให้บริการในโรงเรียนแก่นักเรียนและประชาชน เช่น สาธารณสุข มาให้บริการตรวจสุขภาพ ปลูกฝี ฉีดวัคซีน การบริบาลทารก หรือสาธิตในโรงเรียน ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ ขยายพันธุ์พืชหรือทำปุ๋ยหมัก พัฒนากรมาจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่มออมทรัพย์หรือกลุ่มแม่บ้าน ธนาคารส่งเจ้าหน้าที่มารับฝากเงินจากนักเรียนและประชาชนเป็นประจำทุกเดือน 5. ร่วมกิจกรรมที่หน่วยงานอื่นจัดขึ้นและขอเชิญมา เช่น ร่วมแสดงนิทรรศการจัดการแสดงละคร ฟ้อนรำ ดนตรี กีฬาไปร่วมด้วย เมื่อโรงเรียนจัดกิจกรรมขึ้นบ้าง หน่วยงานอื่นก็จะมาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนเช่นกัน 6. ช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานอื่นโดยอาศัยนักเรียน เช่น ช่วยส่งจดหมายให้กับประชาชนในชุมชนซึ่งอยู่นอกเขตการจ่ายของไปรษณีย์ ช่วยส่งข่าวสาร หนังสือของหน่วยงานอื่นให้กับประชาชน ให้นักเรียนชักชวนผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น แม้กระทั่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สภาจังหวัดหรือสภาเทศบาลก็ตาม หากโรงเรียนจะช่วยรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้มากขึ้นก็ย่อมจะทำได้โดยให้นักเรียนชักชวนผู้ปกครอง ญาติ คนที่รู้จักไปลงคะแนนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานอื่นสามารถปฏิบัติงานได้สะดวกนั้น จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มองเห็นคุณค่าของโรงเรียนมากขึ้น การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและหน่วยงานอื่นนั้น เป็นการส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนแน้นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น การให้ผู้ปกครองนักเรียน บุคคลในชุมชนหรือองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีความรู้สึกว่าโรงเรียนให้ความสำคัญกับเขา การให้คำปรึกษาต่าง ๆ กับชุมชนและองค์กรต่าง ๆ หรือการให้บุคลากรของโรงเรียนเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ปัญหา และข้อควรคำนึงในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การดำเนินงานทุกอย่างย่อมจะมีปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ แน่นอนในการดำเนินงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนก็เช่นกันดังที่ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2541 : 23 ) ได้กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับชุมชนที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องแก้ไขได้แก่ 1. ปัญหาที่เกิดจากทางโรงเรียนได้แก่ เจตคติของบุคลากรในโรงเรียนต่อชุมชนว่าไม่มี ความสำคัญหรือบุคลากรในโรงเรียนไม่มีเวลาในการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งโรงเรียนมีความ ขาดแคลนมากจนชุมชนไม่สามารถให้ความร่วมมือตามที่ต้องการได้ 2. ปัญหาของชุมชน ได้แก่การมีเจตคติที่ไม่ดีต่อทางโรงเรียน ไม่เห็นประโยชน์ทางการศึกษาฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ หรือความสมบูรณ์ของชุมชนมีน้อย รวมทั้งไม่มีเวลาที่จะให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน 3. ปัญหาทางระบบราชการ ที่ต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย เป็นขั้นตอน ทาง ชุมชนจึงมีความรู้สึกว่ายุ่งยาก กลัวความผิดที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น ส่วน กิติมา ปรีดีดิลก ( 2532 : 254 - 255 ) ได้กล่าวถึงปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้ดังนี้ 1. ปัญหาที่เกิดจากโรงเรียน ได้แก่ 1.1 ระเบียบข้อบังคับของทางราชการบางประการเป็นอุปสรรคต่อการสนองความ ต้องการของชุมชน 1.2 ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมีน้อยกว่าที่ควร ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากครูไม่มีโอกาสได้ไปคลุกคลีกับชุมชน โรงเรียนไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและใช้ทรัพยากรของโรงเรียน อีกทั้งขาดวัสดุอุปกรณ์ที่จะให้บริการแก่ชุมชน 1.3 ประชาชนในชุมชนขาดความศรัทธาในตัวครูและผู้บริหาร เพราะว่าครูและ ผู้บริหารวางตัวไม่เหมาะสม ใช้เวลาในราชการไปทำภารกิจอื่น ๆ ขาดความเอาใจใส่ต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ 1.4 โรงเรียนขาดแหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ห่างไกลขาดบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ โรงเรียนขาดปัจจัยที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อชุมชน และไม่รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ 2. ปัญหาที่เกิดจากชุมชน ได้แก่ 2.1 ประชาชนในชุมชนส่วนมากไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา เนื่องจากประชาชน ในชุมชนได้รับการศึกษาต่ำ ฐานะทางเศรษฐกิจของสังคมอยู่ในระดับต่ำขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน 2.2 ชุมชนเข้าใจว่า งานพัฒนาโรงเรียนเป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น 2.3 สิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบ ๆ โรงเรียน เสื่อมโทรม บางแห่งเป็นแหล่งมั่วสุมของอบายมุขมีโจรผู้ร้ายชุกชุม และมีปัญหาสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง 2.4 ผู้บริหารระดับท้องถิ่น ไม่ให้การสนับสนุนในเรื่องของการศึกษาเท่าที่ควรเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจ และมองเห็นคุณค่าของการศึกษาน้อยไป ขาดการประชาสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารระดับท้องถิ่นและโรงเรียน 2.5 ความแตกต่างกันทางภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชน กลุ่มน้อยประจำถิ่น เช่น ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามา หวน พินธุพันธ์ ( 2528 : 130 -131 ) ได้สรุปปัญหาการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง โรงเรียนกับชุมชนไว้ดังนี้ 1. ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร บุคลากร ผู้ปกครองนักเรียน และ ประชาชนในชุมชน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก ผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนขาดมนุษยสัมพันธ์ ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นปูชนียบุคคล จึงทำให้ผู้ปกครองและประชาชนไม่มีความศรัทธา ส่วนปัญหาที่มาจากผู้ปกครองและประชาชนนั้นส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความยากจน ต้องใช้เวลาในการประกอบอาชีพ 2. ปัญหาเกี่ยวกับการเชิญผู้ปกครองหรือประชาชนมาโรงเรียน พบว่าโรงเรียนได้จัดทำให้เป็นกิจลักษณะ ไม่ค่อยได้จัดกิจกรรมที่จะให้ผู้ปกครองและประชาชนได้มีส่วนร่วมมากนัก 3. ปัญหาโรงเรียนให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนได้ไม่เต็มที่ มีสาเหตุมาจากการขาดครู และเครื่องมือในการสอนวิชาชีพแก่ประชาชน ครูมีชั่วโมงสอนมากและมีบ้านพักอยู่ห่างจากโรงเรียนขาดแหล่งทุนที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมให้ความช่วยเหลือชุมชน 4. ปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนขอความช่วยเหลือและขอความร่วมมือจากชุมชนได้ไม่เต็มที่ เพราะสภาพของประชาชนยากจนและต้องใช้เวลาประกอบอาชีพ และประชาชนในชุมชนไม่มีความมั่นใจที่จะมาเป็นวิทยากรให้แก่โรงเรียนได้ 5. ปัญหาเกี่ยวกับการบริการด้านอาคารสถานที่ของโรงเรียนแก่ชุมชน มักจะอยู่ที่ โรงเรียนไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนเพื่อประกอบกิจกรรมตามความจำเป็น 6. ปัญหาการใช้ทรัพยากรในชุมชน มักจะเป็นปัญหาที่ขาดแหล่งทรัพยากร หรือถ้ามีก็จะนิยมใช้กันน้อย ดังนั้นโรงเรียนควรส่งเสริมและสำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน แล้วนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนให้มากที่สุด 7. ปัญหาเกี่ยวกับการออกเยี่ยมเยียนผู้ปกครองนักเรียนและการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน มักจะอยู่ที่ตัวครูไม่สามารถออกไปเยี่ยมเยียนได้ เพราะต้องทำงานหนัก บ้านพักอยู่ไกลจากโรงเรียน อุปนิสัยครูไม่ชอบงานสังคม นอกจากนี้บ้านของผู้ปกครองอยู่ห่างไกล เดินทางไม่สะดวก และออกไปเยี่ยมแล้วอาจจะไม่พบผู้ปกครองได้ตามที่ต้องการ 8. ปัญหาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์โรงเรียน มักเป็นปัญหาจากโรงเรียนไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะจัดให้มีสิ่งพิมพ์ และขาดวิธีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เป็นต้น สำหรับ กิติมา ปรีดีดิลก ( 2532 : 245 ) ได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนไว้ดังต่อไปนี้ 1. ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนความเชื่อของชุมชน การแสดงออกในการยอมรับหรือไม่ยอมรับในการศึกษาถึงรายละเอียดต่าง ๆ ตลอดจนสภาพแวดล้อมของชุมชน เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาและการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน 2. ลักษณะของประชากรในชุมชน จะเห็นว่าระดับการศึกษาในชุมชนหนึ่ง ๆ นั้น ประชาชนแต่ละคนจะมีพื้นฐานการศึกษาแตกต่างกัน โรงเรียนต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการศึกษาและบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนแก่ชุมชน เมื่อพ่อแม่และผู้ปกครองเข้าใจโรงเรียนได้ถูกต้อง เขาก็จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนโรงเรียน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเด็กนักเรียนและชุมชน 3. การสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน โรงเรียนต้องคำนึงถึงกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนด้วย เพราะชุมชนหนึ่งจะมีบุคคลต่างกลุ่มกัน โรงเรียนต้องใช้วิธีการในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไปแล้วแต่ความเหมาะสม 4. โรงเรียนต้องศึกษารายละเอียด เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนที่ ผ่านมาว่าประสบผลสำเร็จเพียงใด มีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินการหรือไม่ประชาชนให้ความร่วมมือสนับสนุนโรงเรียน หรือมีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียนหรือไม่ โรงเรียนต้องเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ในอดีตและปัจจุบันในเรื่องดังกล่าว เพื่อหาทางแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง 5. การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะ โรงเรียนต้องให้ความรู้ เปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติของประชาชนในชุมชนให้มีความเห็นคล้อยตาม ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและความอดทน ประกอบกับโรงเรียนต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดเป้าหมาย การวางแผนการปฏิบัติงาน และมีการประเมินผลเพื่อจะได้รู้ผลการปฏิบัติงานว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ มีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ มีวิธีการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอย่างไร ถ้าโรงเรียนปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าว การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนก็จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุจุดมุ่งหมายในที่สุด ข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การแก้ปัญหาการบริหารงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมีหลายวีธีดังที่ หวน พินธุพันธ์ ( 2528 : 126 - 127 ) ได้เสนอแนะการแก้ปัญหาการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง โรงเรียนกับชุมชนสำหรับโรงเรียนนำไปปฏิบัติไว้ ดังนี้ 1. การแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร บุคลากร ผู้ปกครอง นักเรียนและประชาชนในชุมชน เช่น มีสาเหตุมาจากผู้ปกครองต้องใช้เวลาในการประกอบอาชีพไม่มีโอกาสได้พบครู โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมในวันหยุด หรือให้ครูออกไปเยี่ยมเยียนผู้ปกครองตามบ้าน ส่วนปัญหาผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญของการให้ความร่วมมือและปัญหาครูกับผู้ปกครองมีความขัดแย้งกันนั้นโรงเรียนแก้ปัญหาได้ โดยการใช้การประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง 2. การแก้ปัญหาประชาชนขาดความศรัทธาในตัวครูและผู้บริหาร แก้ปัญหาได้โดย ผู้บริหารและตัวครูเองจะต้องประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นปูชนียบุคคลอย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาที่ตัวผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนนั้น ควรแก้ปัญหาที่การคัดเลือกครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่และบุคลากรในโรงเรียนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีและเป็นบุคคลที่สังคมย่อมรับนับถือด้วย 3. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเชิญผู้ปกครองนักเรียนหรือประชาชนในชุมชนมาโรงเรียน เช่น ปัญหาผู้ปกครองหรือประชาชนไม่สามารถมาร่วมประชุมที่โรงเรียนได้ เพราะต้องประกอบอาชีพและมีฐานะยากจน ควรจัดประชุมในวันหยุดและช่วยสอนวิชาชีพแก่ประชาชนในชุมชน เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และที่สำคัญในการเชิญผู้ปกครองหรือประชาชน มาประชุมนั้นควรหลีกเลี่ยงการเรี่ยไรเงินโดยเด็ดขาด 4. การแก้ปัญหาโรงเรียนไม่ได้เชิญผู้ปกครองมาประชุมและไม่ค่อยจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมนั้นควรเชิญผู้ปกครองมาประชุมในวันปฐมนิเทศหรือวันรับนักเรียนใหม่หรือวันก่อนเปิดภาคเรียน และควรจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับงานของโรงเรียนอยู่เสมอ 5. การแก้ปัญหาการรายงานเกี่ยวกับตัวนักเรียนให้ผู้ปกครองทราบ เช่น รายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง ผู้บริหารควรควบคุมกำกับครูให้จัดทำให้ถูกต้อง ครูควรทำความเข้าใจกับผู้ ปกครองเกี่ยวกับการร่วมมือปรับปรุงความประพฤติและการเรียนของนักเรียนในโอกาสที่ได้มาประชุมหรือพบปะกัน สำหรับการส่งสมุดรายงานนั้น ครูจะต้องติดตาม หรือสอบถาม จากผู้ปกครองหากมีปัญหา 6. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนให้ความช่วยเหลือชุมชน เช่น ปัญหาถูกฝ่ายปกครอง เพ่งเล็ง เพราะประชาชนมาขอความช่วยเหลือจากทางโรงเรียนเมื่อได้รับความเดือดร้อนจากฝ่าย ปกครอง ดังนั้นทางโรงเรียนควรปรึกษาและทำความเข้าใจกับฝ่ายปกครองและหากได้ช่วยเหลือสิ่งใดแก่ชุมชนแล้วควรรายงานให้ฝ่ายปกครองได้ทราบด้วย 7. การแก้ปัญหาการขาดบุคลากรและเครื่องมือในการสอนวิชาชีพแก่ชุมชนควรขอความร่วมมือไปยังศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนซึ่งเขาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว สำหรับปัญหาครูมีเวลาน้อยในการช่วยเหลือชุมชน เนื่องจากมีชั่วโมงสอนมากนั้น การช่วยเหลืออาจหาโอกาสในระยะปิดภาคเรียน ส่วนครูที่มีบ้านพักห่างจากโรงเรียนก็สามารถหาทางให้พักในโรงเรียน ซึ่งมีบ้านพักและปัญหาในการขาดแคลนแหล่งเงินทุนนั้น โรงเรียนสามารถทำโครงการขอทุนสนับสนุนจากองค์กรของภาคเอกชนต่าง ๆ ได้ 8. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนขอความร่วมมือและความช่วยเหลือจากชุมชน เช่น โรงเรียนขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากชุมชนไม่ได้ เนื่องจากความยากจนของประชาชนนั้น โรงเรียนควรให้ความช่วยเหลือขจัดปัญหาความยากจนของประชาชนเสียก่อน โดยการปลูกฝังค่านิยมในการประหยัด โรงเรียนส่งเสริมวิชาชีพให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือหากไม่สามารถ ขอความร่วมมือด้านการเงินได้ โรงเรียนควรหลีกเลี่ยงและขออย่างอื่นแทน เช่น ผลิตผลด้านเกษตร หรือแรงงาน และหากขอด้านแรงงานไม่ได้ก็ขอความคิดเห็น 9. การแก้ปัญหาประชาชนไม่มีความมั่นใจที่จะเป็นวิทยากรให้แก่ทางโรงเรียนควรใช้วิธีการสัมภาษณ์ตามบ้าน เช่น แบ่งนักเรียนออกไปเป็นกลุ่ม ๆ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือและความร่วมมือกับชุมชนทางโรงเรียนควรระมัดระวังให้มาก และควรให้ประชาชนได้รับรู้ปัญหาและโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน 10. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบริการอาคารสถานที่ของโรงเรียน เช่นปัญหาประชาชน มาใช้อาคารสถานที่แล้วทำความเสียหายให้เกิดขึ้น ควรทำความเข้าใจกับประชาชนให้ช่วยกันรักษาอาคารสถานที่ เพราะเป็นสมบัติของส่วนรวม หากเกิดปัญหาโรงเรียนมีอาคารสถานที่ไม่เพียงพอก็ควรให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ แทน 11. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในชุมชน เช่น ปัญหามีการใช้ทรัพยากรใน ชุมชนน้อย อาจเป็นเพราะไม่รู้จักใช้ไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่ ทางโรงเรียนควรเริ่มปลูกฝั่งค่านิยมใหม่แก่เด็ก เพื่อให้เด็กนำไปปฏิบัติจริงที่บ้าน 12. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการออกเยี่ยมเยียนผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนตามบ้านและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น ปัญหาครูผู้สอนต้องทำงานหนักและบ้านพักอยู่ห่างจากโรงเรียนนั้น ครูผู้สอนควรเสียสละเวลาในวันหยุดออกเยี่ยมเยียนผู้ปกครองบ้างและควรนัดวันเวลาที่จะไปเยี่ยมเยียนเพราะอาจจะมีปัญหาเมื่อไปเยี่ยมแล้วไม่พบ และครูอาจารย์ควรไปร่วมกิจกรรมของชุมชนบ้างตามสมควร โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อถือประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น งานวัด งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานวันสำคัญอื่น ๆ ที่ชุมชนจัดขึ้น นอกจากนี้งานส่วนบุคคลในท้องถิ่น เช่น งานศพ งานมงคลสมรส งานทำบุญบ้านและงานอุปสมบท ไม่ควรเก็บตัวอยู่ที่โรงเรียน เพราะจะได้รู้จักคุ้นเคยกับผู้ปกครองนักเรียน และประชาชน ส่วนปัญหาเกี่ยวกับบ้านผู้ปกครองนักเรียน และบ้านของนักเรียนอยู่ไกลจากโรงเรียนและการคมนาคมไม่สะดวก ครูไม่สามารถไปเยี่ยม และอาจเกิดอันตรายได้นั้น อาจติดต่อทางจดหมายหรือนัดหมายผู้ปกครองมาพบกันที่ใดที่หนึ่ง เช่น ที่วัด มัสยิด 13. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์โรงเรียน เช่นปัญหาโรงเรียนไม่มีเงินทุน เพียงพอที่จะจัดให้มีสิ่งพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารของโรงเรียน ทางโรงเรียนควรขอบริจาคเงินเพื่อใช้จ่ายในกิจการต่าง ๆ ของโรงเรียนจากธนาคาร ร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม บริษัท หรือมูลนิธิสำหรับการทำข่าวสารประชาสัมพันธ์อาจขอค่าโฆษณาจากบริษัท ร้านค้า ธนาคาร ที่อยู่ในชุมชนนั้นก็ได้ส่วนการแจ้งข่าวสารแก่นักเรียนเพื่อไปเผยแพร่แก่ผู้ปกครองนั้นควรให้นักเรียนจดลงสมุดไป แทนที่จะแจ้งให้ทราบหน้าแถวหรือในชั้นเรียน เพราะนักเรียนอาจจำไปผิด ๆ ได้ และเมื่อมีข่าวสารต่าง ๆ ก็ควรแจ้งแก่บุคลากรในโรงเรียนด้วย เพื่อจะได้แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนทั่วไป หรือเมื่อประชาชนติดต่อสอบถามก็สามารถแจ้งให้ทราบได้ นอกจากนี้ทางโรงเรียนมักขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นจึงควรเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ทางสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ปกครองและประชาชนที่มาติดต่อโรงเรียน 14. การแก้ปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ควรเชิญ ผู้ปกครองและประชาชนเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนและการออกไปเยี่ยมเยียน และร่วม กิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนโดยสม่ำเสมอ จะช่วยขจัดความขัดแย้งได้อย่างมาก ส่วนปัญหาที่โรงเรียนขาดกำลังคนและกำลังงบประมาณที่จะให้บริการแก่สังคมนั้น ควรขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น และขอบริจาคเงิน สำหรับปัญหาประชาชนได้รับการศึกษาต่ำมีฐานะยากจน และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ โรงเรียนเสื่อมโทรมนั้น ทางโรงเรียนควรให้ความช่วยเหลือในการให้การศึกษาและสอนวิชาชีพแก่ประชาชนก็จะช่วยขจัดการได้รับการศึกษาต่ำและความยากจนได้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและที่เกี่ยวข้องได้มีผู้ศึกษาไว้มากมายซึ่งในที่นี้จะได้นำเสนอเพียงบางส่วนของงานวิจัยดังนี้ ปริญญา รอดแก้ว ( 2529 : บทคัดย่อ ) ได้ศึกษางานของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน พบว่า ระดับการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนที่ปฏิบัติจริง โดยส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลางและที่ควรปฏิบัติอยู่ในระดับสูง การเปรียบเทียบการปฏิบัติจริงกับที่ควรปฏิบัติ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วน วิเชียร อ่อนประเสริฐ ( 2529 : บทคัดย่อ ) ได้ศึกษาปัญหาการบริหารงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา พบว่าปัญหาการบริหารงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อเปรียบเทียบทัศนะของผู้บริหารโรงเรียนที่มีตัวแปรต่างกัน ไม่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ โสภณ เพ็ชรพวง ( 2533 : 134 ) ได้วิจัยเรื่องปัญหาการปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดยะลา พบว่าปัญหาการบริหารงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับ ชุมชนโดยภาพรวมทั้งห้าด้านอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน และรายข้อของแต่ละด้านพบว่ามีปัญหาอยู่ในระดับปานกลางทุกด้านและทุกข้อ เนื่องจาก ปัญหาทางด้านภาษาของบุคลากร ที่ไม่สามารถใช้ภาษายาวีสื่อสารได้ อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์มีอยู่จำกัด ครูและผู้บริหารไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน สวาท หาญกลับ ( 2534 : บทคัดย่อ ) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดตรัง พบว่า ระดับการปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนของผู้บริหารโรงเรียนโดยส่วนรวมและรายองค์ประกอบอยู่ในระดับปานกลาง ศิลปชัย ผลกล้า ( 2540 : 61 ) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับ ชุมชนของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในห้าอำเภอชายแดนจังหวัดสงขลา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา พบว่า การปฏิบัติงานโดยภาพรวมและรายองค์ประกอบอยู่ในระดับ ปานกลาง เนื่องจากผู้บริหารใช้วิธีการประชาสัมพันธ์แบบเก่า ๆ ซึ่งไม่เหมาะสมกับเวลา ผู้บริหารควรหาวิธีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ในการประชาสัมพันธ์และควรกำหนดบทบาทของบุคคลกรในการร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกทั้งต้องศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนให้เข้าใจและต้องให้ความสำคัญด้วย และปัญญา พงศ์เพ็ชร์ (2540: 58 ) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า โดยภาพรวมและงานการให้บริการชุมชนด้านต่าง ๆ งานการสร้างเสริมความสัมพันธ์กับชุมชนและหน่วยงานอื่น และงานการจัดตั้งกลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ อยู่ในระดับปานกลาง เพราะผู้บริหารไม่ค่อยให้ชุมชนใช้บริการอาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ และไม่ค่อยได้วางแผนการร่วมกิจกรรมกับชุมชนและหน่วยงานอื่น อีกทั้งโรงเรียนไม่มีโครงการจัดตั้งสมาคมต่าง ๆ สำหรับการปฏิบัติงานในองค์ประกอบงานเกี่ยวกับกรรมการศึกษา งานการประชาสัมพันธ์โรงเรียน อยู่ในระดับมาก เพราะโรงเรียนเปิดโอกาสให้กรรมการศึกษาเข้ามามีบทบาทในการวางแผนการพัฒนาโรงเรียนอีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษามีดังต่อไปนี้ 1. ขนาดโรงเรียนที่ปฏิบัติงาน จากการวิจัยของ สุมนต์ ศิริธรรม ( 2532 : บทคัดย่อ ) ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับการสร้าง เครื่องมือและการประเมินเครื่องมือสำหรับการบริหารงาน ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังนครศรีธรรมราช พบว่า การบริหารงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนตามทัศนะของครู -อาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน และประชาชน ของโรงเรียนทั้ง 5 ขนาด โดยภาพรวมที่ปฏิบัติจริงอยู่ในระดับปานกลาง และที่ควรปฏิบัติอยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาระดับความพึ่งพอใจพบว่า ผู้บริหาร ครู อาจารย์ และประชาชนของโรงเรียนขนาดเล็กที่สุด ขนาดเล็ก และขนาดกลาง อยู่ในระดับพอใจ ส่วนขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดอยู่ในระดับไม่พอใจ สำหรับข้อเสนอแนะในการบริหารโดยภาพรวมผู้บริหารโรงเรียนควรหาทางสนับสนุนทรัพยากรการบริหารและควรเปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ และชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานให้มากขึ้น อิทธิรา หิรัญสาย ( 2534 : 229 ) ได้ศึกษา การบริหารเวลาและประสิทธิภาพการบริหารงานตามภารกิจของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ในเขตการศึกษา 2 พบว่าประสิทธิภาพการบริหารงานตามภารกิจของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตการศึกษา 2 ตามทัศนะของผู้บริหารและครู ที่จำแนกตามขนาดโรงเรียน แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กมีงานในความรับผิดชอบในขอบเขตที่จำกัดจึงปฏิบัติงานได้ง่ายและมีผลสำเร็จดีกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ บรรจง สระทอง ( 2536 : 83 ) ได้วิจัยเรื่องบทบาทของโรงเรียนมัธยมศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนจังหวัดปัตตานี ตามการรับรู้ของผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์ และผู้ปกครองนักเรียนที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนขนาดต่างกันโดยภาพรวม ปรากฎว่า โรงเรียนขนาดกลางมีความเห็นว่า โรงเรียนมีความสัมพันธ์กับชุมชนต่างไปจากโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนขนาดเล็กโดยโรงเรียนขนาดกลางเห็นว่า โรงเรียนมีความสัมพันธ์กับชุมชนมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ศิลปชัย ผลกล้า ( 2540 : 61 ) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับ ชุมชนของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในห้าอำเภอชายแดนจังหวัดสงขลา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาที่ขนาดของโรงเรียนที่ปฏิบัติงานต่างกัน ปฏิบัติงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ทั้งโดยภาพรวมและรายองค์ประกอบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เพราะว่าผู้บริหารที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนที่มีขนาดต่างกัน มีทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารแตกต่างกันจึงทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถตอบสนองชุมชนได้เท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและทรัพยากร 2. ประสบการณ์การดำรงตำแหน่ง วิชากร บัวหอม ( 2531 : บทคัดย่อ ) ได้ศึกษาสภาพในการบริหารงานโรงเรียนของผู้ บริหารโรงเรียนเทศบาล ตามทัศนะของผู้บริหารโรงเรียนและครูอาจารย์ สังกัดเทศบาล ใน 14 จังหวัดภาคใต้ พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนที่มีประสบการณ์ต่างกันมีต่อสมรรถภาพการบริหารงาน โรงเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทุกด้าน ภรณี เลื่องอรุณ ( 2537 : 154 ) ได้ศึกษา การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการในการปฏิบัติ งานสายส่งเสริมสุขภาพ ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล ในเขต 12 พบว่า เจ้าหน้าที่ สาธารณสุขที่มีระยะเวลาการปฏิบัติงานต่างกัน มีระดับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการใน งานอนามัยแม่และเด็กและงานวางแผนครอบครัว แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 ส่วนงานโภชนาการไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ศิลปชัย ผลกล้า ( 2540 : 66 ) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับ ชุมชนของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ในห้าอำเภอชายแดนจังหวัดสงขลา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาที่มีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งต่างกัน ปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนทั้งโดยภาพรวมและรายองค์ประกอบไม่แตกต่างกัน เพราะว่าก่อนเข้าสู่ตำแหน่งมีการอบรมและให้ความรู้ด้านการบริหารจนทำให้ผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงตำแหน่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความละเอียดอ่อนในการปฏิบัติงานกับประชาชน การปฏิบัติงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนจึงเป็นจุดเน้นในการบริหาร ปัญญา พงศ์เพ็ชร์ ( 2540 : 69 ) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่าง โรงเรียนกับชุมชนของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งต่างกัน ปฏิบัติงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โดยภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 เนื่องจากผู้ที่มีประสบการณ์ต่ำกว่า 11 ปี ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งมีการสอบและอบรมเข้มจึงทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่มีประสบการณ์ มากกว่า 11 ปี จากงานวิจัยที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการบริหารงานของผู้บริหารยังไม่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนซึ่งเป็นงานที่มีความยุ่งยากมากในการบริหาร เนื่องจากต้องมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลหลาย ๆ ฝ่าย อีกทั้งเป็นงานที่ไม่มีงบประมาณในการบริหาร รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานด้านนี้จึงไม่มีการประเมินผลหรือการติดตามการบริหารงาน ส่งผลให้ผู้บริหารละเลยไม่ให้ความสำคัญ โดยไปให้ความสำคัญกับงานที่มีการประเมินผลและติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะผลงานต่าง ๆ ได้ถูกนำไปใช้ในการพิจารณาความดีความชอบของผู้บริหาร แต่จริง ๆ แล้วเป็นการเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมากเพราะการบริหารงานในทุกงานจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหากงานใดไม่ประสบความสำเร็จส่งผลให้งานอื่นชงักไปด้วย โดยเฉพาะงานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนซึ่งเป็นงานที่เป็นหน้าตาของโรงเรียน หากความสัมพันธ์กับชุมชนดีการทำงานในทุกอย่างก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดีโดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเป็นอย่างดี อีกทั้งชุมชนเป็นเกราะให้กับโรงเรียนที่ดีมากด้วย 11